บรรดานักวิเคราะห์และที่ปรึกษา กล่าวว่า แม้ห่วงโซ่อุปทานและช่องทางการจัดจำหน่าย สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีอัตรากำไรสูง ได้รับการจัดการอย่างเข้มงวด แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นเก่าจากเอเชีย กลับไม่ได้รับการจัดการเช่นนั้น ซึ่งการปลอมแปลง, สินค้าคงคลังส่วนเกิน และข้อตกลงการผลิตตามสัญญาที่ซับซ้อน อาจทำให้ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้ในบางครั้ง

การตอบสนองจากบริษัทต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “อุปกรณ์สื่อสารที่กลายเป็นระเบิด” ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 37 ราย และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกประมาณ 3,000 คนในเลบานอน เน้นย้ำถึงความยากลำบากในการทำความเข้าใจว่า อุปกรณ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธอย่างไร และเมื่อใด

บริษัท โกลด์ อะพอลโล ของไต้หวัน กล่าวโทษผู้รับใบอนุญาตเพจเจอร์ในยุโรป ส่งผลให้เกิดการสืบสวนในฮังการี, บัลแกเรีย, นอร์เวย์ และโรมาเนีย เกี่ยวกับที่มาของอุปกรณ์อันตรายดังกล่าว ขณะที่บริษัท ไอคอม ของญี่ปุ่น ไม่สามารถระบุได้ว่า วิทยุสื่อสารที่มีชื่อของบริษัท เป็นของจริงหรือไม่ เนื่องจากมีสินค้าปลอมจำนวนมากในตลาด

ด้านนายเดวิด ฟินเชอร์ นักเทคโนโลยีและที่ปรึกษาในจีน กล่าวว่า สินค้าปลอมมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศูนย์กลางการผลิตขนาดใหญ่ เช่น จีน ซึ่งสามารถผลิตชิ้นส่วนปลอมได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับเสริมว่า การใส่วัตถุระเบิดในวิทยุสื่อสาร และการทำให้ห่วงโซ่อุปทานเป็นอันตราย ไม่ใช่เรื่องยากเลย

ตามรายงานของแหล่งข่าวด้านความมั่นคงรายหนึ่ง กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซื้ออุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวเมื่อประมาณ 5 เดือนที่แล้ว โดยระบุเสริมว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์คิดว่าซื้อเพจเจอร์มาจากโกลด์ อะพอลโล ส่วนวิทยุสื่อสารแบบพกพา ซึ่งแหล่งข่าวรายงานว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซื้อมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับเพจเจอร์ มีฉลากที่มีชื่อของไอคอม

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทต่างตัดความเป็นไปได้ที่ว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ถูกผลิตขึ้นที่โรงงานในประเทศของพวกเขา

แม้การสอบสวนเบื้องต้นของทางการเลบานอน พบว่าวัตถุระเบิดถูกฝังไว้ในอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าว ก่อนที่จะมาถึงประเทศ แต่ในขณะนี้ มันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เพจเจอร์และวิทยุสื่อสาร ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อจุดชนวนระเบิดจากระยะไกลได้อย่างไร และเมื่อใด

ขณะที่ นายโจ ซีโมน หุ้นส่วนของบริษัท อีสต์ ไอพี ซึ่งเป็นบริษัทด้านทรัพย์สินทางปัญญาของจีน กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งคือ แบรนด์ขนาดเล็กมักจะลงทุนน้อยกว่า ในการตรวจสอบสินค้าปลอม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะต้นทุนที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของพวกเขา

“แม้ทางการยินดีที่จัดการกับสินค้าปลอมที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ แต่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจำเป็นต้องตรวจสอบ สืบสวน และยื่นเรื่องร้องเรียน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เมื่อเทียบกับแบรนด์เทคโนโลยีไฮเทคที่มีขนาดใหญ่กว่า” ซีโมน กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นายดิกานตา ดาส จากศูนย์วิศวกรรมวงจรชีวิตขั้นสูง ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ซึ่งศึกษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปลอม กล่าวว่า อุปกรณ์การผลิตมือสองราคาถูกที่หาซื้อได้อย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้ผลิตสินค้าปลอมสามารถทำการผลิตที่มากกว่าส่วนประกอบชิ้นเดียว หรือแม้แต่การผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES