ค่าเงินบาทในช่วงนี้ แข็งค่ามากสุดในรอบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง แตะระดับในช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ย. อยู่ที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้เฝ้าติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด และพร้อมดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ

ข้อมูลจาก “แบงก์ชาติ” ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี 2567 และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3

สาเหตุ “เงินบาทแข็งค่า” จากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ

1. การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด

2. การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค

3. ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ

  • เงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม
  • ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อออนซ์

เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง “ค่าเงินทั่วโลก” ในปี 2567 ใครแข็งค่า-อ่อนค่ากว่ากัน?

ค่าเงิน “แข็งค่า”
อันดับ 1 มาเลเซีย 11.0%
อันดับ 2 สหราชอาณาจักร 4.6%
อันดับ 3 ไทย 3.8%
อันดับ 4 สิงคโปร์ 2.2%
อันดับ 5 อินโดนีเซีย 1.5%
อันดับ 6 จีน 1.1%

ค่าเงิน “อ่อนค่า”
อันดับ 1 ไต้หวัน -3.9%
อันดับ 2 เกาหลีใต้ -3.5%
อันดับ 3 ญี่ปุ่น -2.5%
อันดับ 4 เวียดนาม -1.4%
อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ -1.3%
อันดับ 6 ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ -0.8%

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 25 ก.ย. 67