เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน สู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน

โดยนายจตุพร กล่าวว่า ขอเชิญชวนภาคเอกชน องค์กรชุมชน ที่สนใจ สนับสนุนป่าชุมชน เพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์  การฟื้นฟู และการจัดการป่าชุมชน ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์คาร์บอนเครดิตที่ได้รับสิทธิการแบ่งปันตามกฎหมายแล้ว ผลประโยชน์ร่วมที่ได้รับจากการที่ชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกเสริมป่า ป้องกันไฟป่า จะทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำ ความมั่นคงด้านแหล่งอาหารให้กับชุมชน ชุมชนสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเศรษฐกิจ/รายได้ให้กับชุมชน จากผลิตภัณฑ์ในชุมชน หรือจากการศึกษาดูงาน 

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 เพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อไป

ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า โครงการเปิดตัว “การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน สู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” ในครั้งนี้ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของการจัดการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จังหวัดเพชรบุรี สู่ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมสร้างการรับรู้ศักยภาพของป่าชุมชนในการเก็บกักก๊าซเรือนกระจก และขยายผลส่งเสริมความร่วมมือภาคธุรกิจให้เข้ามาสนับสนุนป่าชุมชน 

ทั้งนี้ ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จ.เพชรบุรี เป็นป่าชุมชนต้นแบบที่กรมป่าไม้และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง โครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โดยมีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมสนับสนุน ซึ่งมีคาร์บอนเครดิตที่รับรอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558–2565 จำนวน 5,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้มีภาคธุรกิจ 3 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท ณ ฤทธิ์ จำกัด แจ้งความประสงค์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จำนวนเงินกว่าเจ็ดล้านบาท เป็นเงินรายได้เข้าบัญชีทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง เพื่อให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน นำไปใช้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล จัดการป่าชุมชน 

นายสุรชัย กล่าวว่า จึงนับได้ว่าป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง เป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเข้าสู่ตลาดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศและปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ขยายผลความสำเร็จ สร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ซึ่งมีป่าชุมชนขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER จำนวน 121 ป่าชุมชน และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ 276 ป่าชุมชน 

ดังนั้น ในอนาคตจะมีคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต ให้ภาคเอกชนสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อผลักดันสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065.