นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แกร็บ มุ่งมั่นในการทำเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการกับผู้ใช้งาน รวมถึงคนขับได้รับความสะดวก ส่วนผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร ได้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันได้ให้บริการใน 700 เมืองในภูมิภาคอาเซียน  ด้วยฐานผู้ใช้งานประจำ  41 ล้านราย  และสร้างรายได้ พาร์ทเนอร์ ในภูมิภาคกว่า 4  แสนล้านบาท ล่าสุดได้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต (ไอโอที) มาพัฒนาฟีเจอร์ใหม่  เพื่อตอบโจทย์ใน 4 ประเด็นหลัก คือ การเสริมประสิทธิภาพการทำงาน (Efficiency) การเพิ่มศักยภาพและผลิตผล (Productivity) การยกระดับประสบการณ์การใช้งาน (Experience) และการสร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact)

“แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของแกร็บ เริ่มต้นจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตและทำความเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภค รวมถึงคนในวงจรธุรกิจ (Ecosystem) ไม่ว่าจะเป็น คนขับหรือผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร ตลอดจนติดตามและเรียนรู้ประเด็นความสนใจและความท้าทายของสังคม เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลในวงกว้าง ซึ่งการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ จะมาจาก ฮับ เทคโนโลยีของแกร็บ ใน 9 ประเทศที่ใหญ่ๆ ก็คือ จีน  และอินเดีย เพื่อในการให้บริการใน 700 เมือง ในภูมิภาคอาเซียน”

โดยการนำเทคโนโลยี รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ มาใช้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก (4A) ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปีเพื่อรักษาความเป็นผู้นำทั้งบริการการเดินทางและเดลิเวอรี โดยในปีนี้มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีใน 3 ส่วนหลัก คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT) และโซลูชันนวัตกรรมบนแอปพลิเคชันของเรา (In-app Solutions) เพื่อช่วยตอบโจทย์และเติมเต็มความต้องการของคนในอีโคซิสเต็มในด้านต่างๆ อย่างสร้างสรรค์

นายวรฉัตร กล่าวต่อว่า   สำหรับฟีเจอร์ใหม่ๆ อาทิ ฟีเจอร์บัญชีครอบครัว ที่ผู้ใช้บริการสามารถติดตามการเดินทางและชำระค่าบริการเรียกรถผ่านแอป ให้กับคนในครอบครัวได้  หลังจากเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า มักจะมีการสั่งอาหารและเรียกรถโดยสารให้บุคคลในครอบครัว ซี่งฟีเจอร์นี้จะสามารถตรวจสอบตำแหน่งการเดินทาง สื่อสารผ่านแชตกับคนขับ และชำระค่าบริการให้กับสมาชิกในครอบครัวได้

ขณะที่ ฟีเจอร์ ฟู้ดล็อกเกอร์ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับพนักงานออฟฟิศที่ชอบสั่งอาหารผ่านแอป แต่บางครั้งอาจติดประชุมหรือไม่สามารถลงมารับอาหารได้ทันที ซึ่งช่วยสร้างความสะดวกให้ทั้งผู้สั่งอาหารไม่ต้องลงมารับทันทีและไรเดอร์ไม่ต้องรอผู้สั่งลงมารับ ช่วยให้มีเวลารับงานเพิ่มขึ้น  โดยปัจจุบันได้ตั้งใน 4 อาคาร คือ เดอะปาร์ค, เซ็นทรัลเวิลด์, เดอะ ไนน์ พระรามเก้า และ เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และมีแผนขยายไปยังอาคารอื่นๆ ทั่ว กทม.  

นอกจากนี้ยังได้นำระบบจัดสรรงานสำหรับคนขับและวางแผนระบบปฏิบัติการหลังและระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี ที่จะมีการประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าก่อนจะส่งงานให้คนขับเพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด และการพัฒนาแผนที่ในอาคารที่ช่วยแนะนำเส้นทางและบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึง 20%

นายวรฉัตร กล่าวว่า สำหรับในส่วนของพนักงาน ได้ร่วมมือกับ แชต จีพีที นำมา เจนเอไอ พัฒนาโปรแกรม แกร็บ จีพีที เพื่อช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งจะช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ  ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ทั้งหมดนอกจากช่วยคนขับและพาร์ทเนอร์ร้านอาหารแล้ว ยังช่วยให้แกร็บมีการเติบโตเป็นเลข 2 หลัก และเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วย