นายจิรายุ ห่วงทรัพย์​ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรืออีวี 3 จำนวน 7,125 ล้านบาท 

สำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่มีการจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค. 67 ซึ่งได้รับสิทธิตามมาตรการอีวี 3 จำนวน 90,380 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 11,917 ล้านบาท ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รับงบประมาณไปแล้ว 6,947.78 ล้านบาท โดยได้เบิกจ่ายไปแล้ว 5,901 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามมาตรการอีวี 3) และต่อมาได้เบิกจ่ายเพิ่มเติมอีก จำนวน 996.62 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันยังคงเหลือที่ได้ไม่รับการจัดสรรรงบประมาณอีกจำนวน 5,019 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง คาดว่าจะสามารถจำหน่ายและจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้ในปีงบประมาณปี 67

“ผู้เข้าร่วมมาตรการ อีวี 3 แจ้งข้อมูลต่อกรมสรรพสามิต ว่ามีความพร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 67 เป็นต้นไป และหากสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้แล้ว ก็จะขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกจำนวน 16,500 คัน วงเงิน 2,475 ล้านบาท จึงทำให้กระทรวงการคลัง ต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการ อีวี 3 รวมทั้งสิ้น 7,494 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาทแล้ว”

นอกจากนี้ มาตรการอีวี 3 จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยการสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลง ใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน และช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยลดให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษ