Kim Rando อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ชายวัย 60 ที่ได้รับยกย่องให้เป็น ‘ที่ปรึกษาวัยรุ่นแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้’ ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง และได้รับความสนใจไปทั่วโลกในเวลาต่อมา เนื้อหาถูกตีพิมพ์ซ้ำมากกว่า 52 ครั้ง เผยแพร่ไปไม่น้อยกว่า 16 ประเทศ โดยใช้ชื่อในภาษาไทยว่า “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด”

ความจริงที่ดูเหมือนจะจริงเกินไปของหนังสือเล่มนี้ ได้ตอกย้ำประสบการณ์ร่วมของผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่น ตั้งแต่ความยากลำบากในการรับมือกับความคาดหวังของครอบครัว การเผชิญหน้ากับความผิดพลาด-ล้มเหลว การลุกขึ้นมาแบกรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง การจัดการอารมณ์ความรู้สึกความคิด และการก้าวเท้าเข้าไปสู่โลกของผู้ใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ทิ้งบาดแผลไว้ทั้งแทบสิ้น ส่วนจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทาน ความเข้าใจ และกลไกการดูแลข้อเรียกร้องนานัปการถูกยื่นให้กับวัยรุ่นตามความเร็วของโลกที่หมุนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชีวิตการเป็น “นักศึกษา” ที่ต้องจากบ้าน เปลี่ยนสังคม ผละออกจากครอบครัวอันเป็นพื้นที่ปลอดภัยเดิม เข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ บนเส้นทางของนักการแสวงหา และการพิสูจน์ตัวเอง

นอกเหนือไปจากการจัดการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยยังต้องทำหน้าที่รองรับ-อุปถัมภ์นักศึกษา ซึ่งการสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีสุขภาวะดี หรือ Well-being เป็นหนึ่งในวิธีการสมานริ้วแผล-ลดทอนความเจ็บปวดของวัยรุ่นลงได้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพใจของนักศึกษา จากการเก็บสถิติและติดตามสถานการณ์นักศึกษาอย่างใกล้ชิด นำมาสู่ความเข้าใจและการพยากรณ์พฤติกรรม โดยพบว่า ในช่วงการสอบมิดเทอมและไฟนอล ราว 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั้งหมด จะมีภาวะเครียดและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และยังพบอีกว่า “นักศึกษาชั้นปีที่ 1” เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

ธรรมศาสตร์จึงได้จัดตั้ง “Thammasat Well Being Center” ขึ้นมาดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักศึกษาและบุคลากร โดยจะทำงานเชิงรุก เชื่อมต่อบริการผ่านแอปพลิเคชัน ‘TU Future Wellness’ ที่ฝังอยู่ภายใน Super Application ของธรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า TU GREATS ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวบรวมทุกบริการของมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนมี พร้อมกันนี้ยังจะมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลในลักษณะ Health Profile เพื่อให้เห็นภาพรวมของสุขภาวะคนในประชาคมธรรมศาสตร์
ผศ.บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา อธิบายว่า Thammasat Well Being Center คือศูนย์กลางการให้บริการทุกมิติสุขภาพ แบ่งเป็น 1. ดูแลสุขภาพกาย มีการจัดพยาบาลประจำศูนย์ รวมทั้งมีแพทย์เข้ามาสนับสนุนการให้บริการเป็นรายกรณี พร้อมกับจัดบริการ Virtual Clinic ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถเข้ามาพบแพทย์ออนไลน์ทางไกลได้ ครอบคลุมทั้งนักศึกษาและบุคลากรทั้งท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา 2.ดูแลสุขภาพใจ เริ่มจากการประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตผ่านทางแอปพลิเคชัน TU Future Wellness

ตลอดจนการมีนักจิตวิทยาประจำศูนย์​ นักศึกษาสามารถนัดหมายได้ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. ส่วนในช่วงนอกเวลาจะมีทีม outsource คอยให้บริการรับสายผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายจากศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และในกรณีเร่งด่วนจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือทันที

“เราพยายามทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างง่ายที่สุด เช่น คุณลองเปิดโทรศัพท์ประเมินดูหน่อย อย่างน้อยก็เกิด Self-Awareness ที่ทำให้คุณรู้เท่าทันตัวคุณเอง และเมื่อใดที่คุณต้องการความช่วยเหลือ ก็อยากให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยมีพื้นที่ตรงนี้เปิดไว้ สิ่งที่อยากบอกคือ ไม่ต้องกลัว การปรึกษาด้านจิตวิทยาไม่ได้แปลว่าเราบ้า เราแค่มาดูแลตัวเอง เพราะว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่เราจัดการด้วยตัวเองไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญช่วยได้” ผศ.บุรชัย ระบุ

นอกเหนือจาก Thammasat Well Being Center ที่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 Good health and Well-being หรือ สุขภาพดี-สุขภาวะดี แล้ว ธรรมศาสตร์ภายใต้การนำของ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี ยังได้จัดระบบดูแลนักศึกษาที่ตอบเป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth หรือ การส่งเสริมการมีงานที่ดีที่เหมาะสำหรับทุกคน ด้วยเพราะโลกแห่งการทำงานต้องการทักษะที่มากกว่าความรู้ในห้องเรียน จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ TUCEEC ขึ้นมาเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพในการทำงานจริงให้แก่นักศึกษา ตลอดจนพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่ศิษย์เก่า

ผศ. ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ อธิบายว่า TUCEEC จะทำหน้าที่เชื่อมโยงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ากับโลกของการทำงาน อาทิ การจัดอบรมพัฒนาทักษะ ตั้งแต่บุคลิกภาพ การสัมภาษณ์งาน การต่อรอง การรับมือกับปัญหาในที่ทำงาน การประสานเพื่อให้เกิดการฝึกงาน สหกิจศึกษา ตลอดจนการจัดหางาน การแนะนำตำแหน่งงาน ที่ตรงตามสมรรถนะและความต้องการของทั้งสถานประกอบการและนักศึกษา รวมถึงการสนับสนุนให้ศิษย์เก่าเข้ามาพัฒนาทักษะใหม่ๆ
ผศ. ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากนโยบายของ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ที่ต้องการสนับสนุนให้นักศึกษาจบไปแล้วมีงานทำ 100% จึงได้มีการจัดตั้ง TUCEEC เพื่อเชื่อมโยงธรรมศาสตร์กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะดูแลเรื่อง Job Matching, Up-Skills Re-Skills และที่สำคัญคือมีการจัดทำ “ศูนย์กลางข้อมูล” ผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะบรรจุข้อมูลของนักศึกษา-ความถนัด ฯลฯ ในลักษณะ portfolio ให้ผู้ประกอบการได้พิจารณา ขณะเดียวกันก็มีการบรรจุข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่เปิดรับสมัครงาน รับสหกิจศึกษา ตลอดจนความต้องการอื่นๆ ให้นักศึกษาได้พิจารณาด้วย

“ในอนาคต ตรงนี้จะถูกพัฒนาเป็น Big Data ที่ช่วยสนับสนุนทั้งบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิต รวมถึงศิษย์เก่า โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้รับรอง คือใครอยากได้บัณฑิตธรรมศาสตร์ไปทำงาน ก็เข้ามาในนี้ได้เลย” ผศ. ดร.รัชฎา อธิบาย
ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การดูแลคุณภาพชีวิตและการสร้างสุขภาวะดีให้นักศึกษา ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความปลอดภัย ตลอดจนสวัสดิภาพในชีวิต ถือเป็นวาระสำคัญของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เขาได้ใช้เวลาตลอด 4 ปี ในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ค้นหาตัวเองอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ โดยมีมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง

ขณะเดียวกัน ในสังคมโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การศึกษาเรียนรู้จำเป็นต้องมีความรอบด้าน ทั้งวิชาการและประสบการณ์ นับจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีทักษะทั้ง Hard skill และ Soft skill ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการและการทำงานในอนาคต ไม่ว่านักศึกษาจะผันตัวเองเข้าสู่การทำงานในรูปแบบองค์กร หรือการทำงานส่วนตัว ตลอดจนการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการ
////////