เมื่อวันที่ 24 ก.ย. รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับอาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ ทั้งในเรื่องด้านวิชาการ วิจัย นวัตกรรม รวมถึงคุณภาพชีวิต เพราะต้องยอมรับว่าด้วยเศรษฐกิจในขณะนี้ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย และบุคลากรย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้น ค่าตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่เพียงพอด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ มหาวิทยาลัยจึงได้มีการจัดกิจกรรม และงบประมาณส่งเสริมให้อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าที่สามารถจัดจำหน่ายได้จริง และสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของอาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย และนักศึกษา

“เดือน ต.ค.นี้ มทร.ล้านนาจะเปิดตลาดนัดภายในมหาวิทยาลัย โดยจะให้ทางศูนย์บ่มเพาะ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่ได้พัฒนานวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ มานำเสนอขาย และหากนักศึกษา อาจารย์ หรือบุคลากรมหาวิทยาลัยต้องการทักษะด้านการทำอาหาร ทำขนม หรือสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเอง จะเปิดให้ใช้บริการโรงครัว ห้องครัวของมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานทั้งอาหารไทย อาหารจีน และอาหารนานาชาติ มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ รวมถึงการช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาจัดจำหน่ายในตลาดนัด เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่อาจารย์ บุคลากร และเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยต่อประชาชน” รศ.ดร.อุเทน กล่าวและว่า นอกจากนี้จะมีการจัดเวิร์กช็อปให้ประชาชน และผู้ประกอบการได้เข้าร่วม อาทิ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จะมาช่วยออกแบบแพ็กเกจจิ้ง หรือ การนำเสนอโครงการวิจัยลายคำล้านนาเพื่อการต่อยอดสู่ชุมชน ของ ผศ.ลิปิกร มาแก้ว อาจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์ ซึ่งเป็นลายพื้นเมือง เป็นการเพิ่มพูนทักษะให้แก่ผู้สนใจ และอนุรักษ์ภูมิปัญญางานช่างของล้านนา อีกทั้งจะเป็นการยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงงานช่างของล้านนาจากท้องถิ่นให้ไปเป็นที่รู้จักมากขึ้น

รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวต่อว่า มทร.ล้านนา ตั้งใจที่จะสนับสนุนทุกๆ โครงการ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ให้แก่นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมากขึ้น อาทิ การส่งเสริมตำแหน่งทั้งทางวิชาการ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ พัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อท้องถิ่น และสามารถนำไปต่อยอดออกสู่ตลาดได้จริง เพราะหากอาจารย์ บุคลากรมีความก้าวหน้าในการทำงาน มีความสุข มีรายได้จากการเปิดตลาดเซอร์วิสเชื่อว่าจะช่วยเยียวยา และเพิ่มทักษะ ความสามารถ สร้างรายได้ให้แก่อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น.