วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทย เป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำกว่า 80,000 คนต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 7,800 รายต่อปี การรักษาวัณโรคจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งผลข้างเคียงของยาต้านวัณโรคทำให้มีอาการตับอักเสบ ผู้ป่วยบางรายจึงต้องหยุดยา การรักษาจึงไม่มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงนำเทคโนโลยีนวัตกรรมการตรวจ NAT2 diplotype (แนททู ไดโพลทัยป์) มาใช้ มีเป้าหมายเพื่อตรวจหายีนย่อยยาวัณโรคในผู้ป่วย ให้แพทย์ผู้รักษามีข้อมูลไว้ใช้ปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ลดการเกิดตับอักเสบจากยาต้านวัณโรคทำให้รับยาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายในการยุติวัณโรค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการตรวจวิเคราะห์ NAT2 diplotype ด้วยเทคนิค Real-time PCR เพื่อใช้ประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid ในผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 10,000 ราย ทั้งผู้ป่วยวัณโรคก่อนได้รับยา และในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาแล้วเกิดภาวะตับ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยวัณโรคประมาณร้อยละ 5-10 มีภาวะตับอักเสบจากยาต้านวัณโรค ซึ่งทำให้การรักษาวัณโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก ยีน NAT2 มีหน้าที่ในการย่อยสลายยาต้านวัณโรค Isoniazid ทำให้แต่ละบุคคลมีความสามารถในการย่อยสลายยาแตกต่างกัน ซึ่งหากมียีน NAT2 เป็นแบบย่อยสลายยาช้า จะทำให้มีโอกาสเกิดตับอักเสบสูงกว่าแบบอื่นถึง 8.8 เท่า และประชากรไทยร้อยละ 40 มีการย่อยสลายยาช้า ดังนั้นการตรวจยีน NAT2 จะช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถตัดสินใจในการปรับระดับยา Isoniazid ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยวัณโรค


“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอประชาสัมพันธ์โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านจีโนมิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหา รักษา ควบคุม และป้องกันวัณโรค ของประเทศไทย เร่งรัดให้ยุติวัณโรคในทุกเขตสุขภาพ และทำให้โรคนี้หมดไปจากประเทศไทย โดยหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยวัณโรค ตรวจ NAT2 diplotype โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 029510000 ต่อ 98095 หรือ 98096” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวทิ้งท้าย.