งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 “Eco Innovation Forum 2024”  จัดโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ภายในงาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ปาฐกถาพิเศษภายใต้แนวคิด “Now Thailand : Sustainable Futures ลงทุนในประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิสรัปชั่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   ความท้าทายที่เกิดขึ้น เราได้เห็นภาพเดียวกันคือความความท้าทายเครื่องโลกร้อน ประเทศไปตกลงไว้กับต่างประเทศที่การประชุมคอป27ในปี2565 เรื่อง Net Zero มากไปกว่านั้นลูกค้าเราไปตกลงไปจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2593 บังคับให้เราต้องปรับตัวนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำและทำเดี๋ยวนี้ เพื่อที่จะไม่ให้ส่งผลกระทบกับการค้าขายและการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ  

ทั้งนี้ได้เข้าไปศึกษาแผนเอสดีจี (SDGs) 17 เรื่อง ระบุว่าต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากร เรื่องของ BCG  (Bio-Circular-Green Economy  )แต่จริงๆแล้วปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มาเคาะประตูหน้าบ้านเราแล้ว จากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณปีละแสนล้านในการแก้ปัญหารวม 10 ปี นับเป็นจำนวนเงินล้านล้านบาท  ยังไม่นับรวมเรื่องฝุ่นพิษ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ  ปัญหาเหล่านี้มาถึงบ้านเราเร็วกว่าที่คิด ดังนั้นจึงต้องทำเดี๋ยวนี้  เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนมะเร็งร้ายที่ค่อยๆกัดกินร่างกาย และเป็นภาระกิจที่จะต้องทำร่วมมือกันทุกภาคส่วน

นายเอกนัฏ กล่าวว่า เมื่อมาดำรงตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม เรื่องแรกที่จะทำ และเป็นปัญหาที่ติดในใจ คือ

1.ปัญหากากขยะอุตสาหกรรม  จะประกาศต่อสู้กับธุรกิจที่เอาเปรียบประชาชนที่ไม่มีความรับผิดชอบ และสิ่งสำคัญกลุ่มธุรกิจที่รับกำจัดขยะพิษแล้วไม่ทำ จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน  แล้วสร้างชื่อเสียงที่ไม่ดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมไทย  ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ขยะพิษกองมหึมาอยู่ที่จ.ระยอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี เพชรบูรณ์  เรารู้ดีว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิผล ผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง 

“ผมเข้ากระทรวงวันแรกไปที่วินโพรเซส เข้ากระทรวงวันแรกเจ้าหน้าที่บอกว่ามีโทรศัพท์เข้ามาหา  ผมไม่กลัวผมจะร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงจัดการกับปัญหาเหล่านี้ทันที เพื่อที่จะไม่สร้างภาพพจน์ให้กระทรวงเสียหายต่อไป”

เรื่องที่ 2.รับ Pain Point  (จุดอ่อนของธุรกิจ) จากภาคเอกชน จะสร้างความร่วมมือออกมาตรการพัฒนาปฏิรูปเพื่อที่จะรองรับโอกาสทางธุรกิจไม่ให้ตกขบวน สร้างรายได้ให้กับประเทศทั้งซัพพลายเชนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร และการรักษาอุตสาหกรรมบางส่วน เช่นเหล็ก หรืออุตสาหกรรมทางเลือก ที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยใช้ ช่วยซื้อ ไม่ว่าอุตสาหกรรมทางแพทย์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งหมดนี้ ยังไม่ต้องใช้ทุนหรือออกกฏหมายไปบังคับ เพียงแค่ปรับวิธีคิด และออกมาตรการออกมา ถ้ารัฐบาลเข้าใจ ที่จะช่วยส่งเสริม ให้กนอ.ช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอี ทั้งนี้หากมีการดึงนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาผู้ประกอบการรายเล็กต้องได้รับอานิสงด้วย  ขณะเดียวกันจะหารือกระทรวงพลังงานเพื่อปลดล็อคเรื่องโซลาร์ลูฟท๊อปให้บ้านอยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม สามารถใช้พลังงานสะอาดได้สะดวกขึ้น และส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนให้เกิดขึ้น โดยทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  (BOI)  และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (สสว.)   เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆในการสร้างเศรษฐกิจ

เรื่องที่ 3.เน้นนำนวัตกรรม มาใช้เพื่อยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าวันนี้ เราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมการจัดการปัญหาขยะพิษ ปีที่แล้วกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการมาแล้วเรื่องขยะอุตสาหกรรม ผู้ที่รับผิดชอบไม่จำกัดเฉพาะคนที่รับไปกำจัดเท่านั้น แต่จะโยงไปถึงผู้ผลิตขยะอุตสาหกรรมเหล่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เทคโนโลยี เพราะเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังวางระบบติดตามแบบเรียลไทม์

เรื่องที่ 4. “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม” ได้ประกาศเรื่องนี้ไปแล้ว ส่งสัญญาณไปแล้วว่าจริงจังกับเรื่องนี้จะสร้างพันธมิตรทั้งในและนอกกระทรวง แต่หนีไม่พ้นต้องมีเงิน  แต่จริงๆเงินก้อนนี้ จริงๆมีอยู่แล้วแต่ไปกองอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ เพียงแต่ไม่ได้ปรับให้ใช้กับภาระกิจที่ทันสมัย แต่วันนี้เราจะทำเรื่อง  Now  Sassability  ซึ่งบางกองทุนตั้งมาแล้ว 10 ปียังไม่ปรับให้ทันสมัย  ทั้งนี้เตรียมออกกฏหมายเอาเงินทุกกองที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแล เพื่อให้มีความชัดเจน ซึ่งการจัดการปัญหากากขยะพิษ การเยียวยาประชาชนจะมีเงินในกองทุนตัวนี้ไปช่วยเหลือ รวมถึงการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีปรับตัว ติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อป้องกันมลพิษเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะนำเงินจาก “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม” ไปช่วยเช่นกัน

“ที่สำคัญเราพูดเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลง  แต่สิ่งที่เราทำแล้วไม่ยั่งยืน เท่ากับสิ่งที่เราทำย้อนแย้งกันเอง ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แม้ผมจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งแต่เรื่องนี้จะยั่งยืน นอกจากการให้ความสำคัญกับความร่วมมือ การออกมาตรการ การเอาทุนต่างๆมาใช้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะให้การเปลี่ยนแปลงอยู่ เราต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฏหมายถือเป็นคำสั่งแรกที่มาดำรงตำแหน่ง มีกฏหมายอยู่14 ฉบับที่ยังไม่ปรับแก้ แนวทางแก้กฏหมายทำให้สะดวกและโปร่งใส ตัวอย่างเช่นการขออนุญาตของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้พลังงานสะอาดอยู่แล้วไม่ต้องขออนุญาตให้ยุ่งยาก และที่สำคัญกฏหมายต้องเอาผิดให้ได้กับผู้กระทำผิดได้ ”

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ  กรรมการกนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ร่วมกับ ส.อ.ท. จัดงานสัมมนาวิชาการ Eco Innovation Forum 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8  มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เชิดชูเกียรติองค์กรที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ผ่านแนวทาง 3R คือ

 1.“ลด” การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

2.“หมุนเวียน” พลังงานธรรมชาติหรือพลังงานที่สะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ

3.“ชดเชย” คาร์บอนที่ถูกนำมาใช้ด้วยกิจกรรม เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อการดำเนินการให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ภายในปี 2593 ทั้งหมดนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยึดหลัก สะอาด สะดวก โปร่งใส นำพาภาคอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานสากล และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ