เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ

การที่บุคคลหลายฝ่ายทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนบางท่าน ได้แสดงความคิดเห็น กรณีพรรคเพื่อไทยเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับการวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมว่า เป็นการแก้ไขเพื่อตนเองนั้น

รัฐธรรมนูญเป็นกติกาทางการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งปวง ที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้นทุกเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องของประเทศอันเป็นเรื่องของประชาชนทั้งสิ้น การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจถือว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเองตามที่วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นอย่างตื้นเขิน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมรดกที่เผด็จการทิ้งไว้ ถูกร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจโดยใช้ผ่านองค์กรอิสระ ศาล และ ป.ป.ช. ที่มาจากรัฐราชการครอบงำฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชน โดยใช้มาตรฐานดุลพินิจทางจริยธรรมที่ร่างกันเองและตีความกันเอง เป็นเครื่องมือในการยุบพรรคการเมือง และจัดการกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม คำวินิจฉัยที่ออกมาจึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ขาดการยอมรับอันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชน และยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มีระเบียบปฏิบัติในแนวทางอย่างชัดเจน โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจส่วนตัวในเรื่องจริยธรรม วินิจฉัยตัดสินลงโทษผู้อื่น และกำหนดใช้กติกาหรือหลักเกณฑ์ใหม่ที่เกิดความเป็นธรรมและยอมรับจากทุกฝ่าย จึงถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรงอย่างแท้จริง

อีกทั้งหากมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา ก็เป็นหน้าที่และความรับผิดโดยตรงของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่ต้องดำเนินกระบวนการในระบบรัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายข้อดีและข้อเสีย กลั่นกรองออกมาเป็นกฎหมายที่ดีที่สุด ภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรม เพื่อลดความขัดแย้งของคนในชาติ อันนำพาไปสู่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ต่อไป