เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เตือนประชาชน จังหวัดแพร่ คืนนี้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่สถานี Y.1C บ้านน้ำโค้ง อ.เมืองฯ จ.แพร่ ลุ่มน้ำยม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยถ้าสถานีต้นน้ำ Y.20 แตะที่ 1,000 cms อีกประมาณ 20 ชั่วโมง ส่งผลให้น้ำอาจจะไปท่วมที่ อ.เมืองแพร่ พร้อมเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ โดยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าในระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 23 ก.ย. 67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม บึงกาฬ หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และจังหวัดสตูล รวม 175 อำเภอ 766 ตำบล 4,017 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 160,739 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 46 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน .

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลรายงานสถานการณ์แม่น้ำยม วันนี้ เมื่อเวลา 18.00 น. ที่สถานี Y.20 บ้านห้วยสัก อ.สอง จ.แพร่ ระดับน้ำ 8.71 ม. จากระดับตลิ่ง 8.10 ม. ปริมาณน้ำ 830.00 ลบ.ม./วิ (red triangle button) ซึ่งปริมาณน้ำล้นตลิ่งแล้ว ขณะที่สถานี Y.1C บ้านน้ำโค้ง อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำ 5.59 ม. จากระดับตลิ่ง 8.20 ม. ปริมาณน้ำ 585.50 ลบ.ม./วิ (red triangle button) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสถานี Y.37 บ้านวังชิ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ ระดับน้ำ 9.51 ม. จากระดับตลิ่ง 11.00 ม.ปริมาณน้ำ 947.80 ลบ.ม./วิ (red triangle button) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายพื้นที่ อาทิ 

จ.เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เวียงป่าเป้า และ อ.เมืองฯ รวม 10 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,093 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง ซึ่งที่ อ.เวียงป่าเป้า ยังคงมีสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม 

จ.เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แม่ริม รวม 6 ตำบล 40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,025 ครัวเรือน กำลังแก้ไขสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักเพิ่ม น้ำจะลดลง และขณะนี้กำลังเร่งฟื้นฟูความเสียหายในพื้นที่ 14 อำเภอ

จ.น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นาน้อย อ.นาหมื่น และ อ.เวียงสา รวม 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง จ.ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.งาว อ.สบปราบ อ.เถิน อ.แม่เมาะ อ.เมืองฯ อ.เกาะคา อ.ห้างฉัตร อ.วังเหนือ และ อ.แม่พริก รวม 25 ตำบล 66 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,871 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

จ.ลำพูน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านธิ อ.ป่าซาง อ.ทุ่งหัวช้าง อ.เมืองฯ และ อ.แม่ทา รวม 17 ตำบล 60 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 148 ครัวเรือน โดยขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จ.แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ลอง และอ.วังชิ้น รวม 6 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

จ.พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว จ.หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมืองฯ และ อ.โพนพิสัย รวม 26 ตำบล 146 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,717 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

จ.นครพนม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าอุเทน อ.ศรีสงคราม และ อ.เมืองฯ รวม 8 ตำบล 53 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 250 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

จ.อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.โพธิ์ไทร รวม 1 อำเภอ 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 627 ครัวเรือน ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เนื่องจากแม่น้ำโขงไหลท่วมสะพานทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ระดับน้ำสูง รถเล็กไม่สามารถใช้สัญจรได้ โดยขณะนี้ได้ใช้เรือ จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้รับส่งคนข้ามฝากไปทำงาน และซื้อสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันเป็นการชั่วคราว 

จ.เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองเลย 4 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 67 ตำบล 301 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,702 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ปภ.) ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 25 ก.ย. แจ้งเตือนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และคลื่นลมแรง ในพื้นที่จังหวัด ดังนี้ สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม จำนวน 69 จังหวัด ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ภาคกลาง จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ และภาคใต้ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล  .

“นอกจากนี้ ขอให้ 34 จังหวัด เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย ตาก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต และจังหวัดตรัง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้หลายจังหวัดได้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย (จังหวัดเชียงราย) แม่น้ำกก (จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย) แม่น้ำอิง (จังหวัดพะเยา) แม่น้ำยม (จังหวัดพิษณุโลก) แม่น้ำป่าสัก (จังหวัดเพชรบูรณ์) แม่น้ำเลย (จังหวัดเลย) แม่น้ำห้วยหลวง (จังหวัดอุดรธานี) แม่น้ำสงคราม (จังหวัดอุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ และจังหวัดนครพนม) แม่น้ำจันทบุรี (จังหวัดจันทบุรี) และแม่น้ำตราด (จังหวัดตราด) ในส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง คลื่นลมแรง ในภาคกลาง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด ภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทุกเขต ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200 KVA รถบรรทุกเล็ก รถลากเรือเคลื่อนที่เร็ว เรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ พื้นที่ใกล้เคียง พร้อมกำลังพลให้พร้อมสนับสนุนจังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ ข่าวสารสาธารณภัย ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน “Thai Disaster Alert” ทั้งระบบ IOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 หรือ ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567