เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามของนายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สว. เรื่อง มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติอุทกภัย และแนวทาง ยุทธศาสตร์บูรณาการจากกระทรวงต่างๆ ในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยถาม รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมอบหมายให้นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ มาตอบแทน

นายอิทธิ  กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้บริหารจัดการมาตลอด โดยอ้างอิงว่า สถานการณ์ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมาจากภาวะ “โลกเครียด” ทำให้ไม่สามารถประมาณการน้ำฝนได้ชัดเจนเหมือนอดีต และพฤติกรรมฝนไม่เหมือนเก่า โดยเกษตรกรด้านพืชได้รับความเสียหาย 160,000 คน พื้นที่เสียหาย 1,000,000 ไร่ เช่น ข้าว พืชไร่ พืชผักไม้ผลไม้ยืนต้น  ส่วนเกษตรกรด้านประมงเกษตรกรได้รับผลกระทบ 10,000 คน ผู้ประกอบการบ่อปลา บ่อกุ้ง กระชังต่างๆ ส่วนด้านปศุสัตว์ผู้ได้รับผลกระทบ 3,604,513 ตัว รวมโค กระบือ สุกร แพะ แกะและสัตว์ปีก พื้นที่แปลงหญ้ากว่า 3,700 ไร่ โดยมีข้อสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมเพื่อเตรียมพร้อมการเยียวยาให้กับเกษตรกร

รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้สั่งให้กรมชลประทาน ใช้แผนที่น้ำระดับจังหวัดบริหารจัดการน้ำ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ระบายน้ำ พร้อมทั้งระดมเครื่องสูบน้ำกว่า 2,000 เครื่อง ใช้ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย  รวมถึงสั่งให้กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ผักให้กับเกษตรกรปลูกหลังน้ำลด และเตรียมหัวเชื้อสำหรับฟื้นฟูพื้นที่ทางเกษตรหลังน้ำลด  ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ได้มีการอพยพสัตว์ต่างๆ ราว 600,000 ตัว และส่งหญ้าอาหารสัตว์หญ้าพระราชทานให้ผู้เลี้ยงสัตว์ไปแล้ว 522,203 กิโลกรัม และตั้งสถานที่พักพิงสัตว์ชั่วคราว หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆ ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ รักษาโรคสัตว์ที่มากับน้ำ

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า  ในส่วนของกรมฝนหลวงการเกษตรได้ลงพื้นที่น้ำท่วม ช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของในพื้นที่ที่เข้าได้ยาก  ส่วนกรมประมงจัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ส่งเสบียงอาหารน้ำดื่มและอพยพประชาชนผู้ป่วยคนชราในพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ยังให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินและชะลอการชำระหนี้และลดดอกเบี้ยให้กับสมาชิกสหกรณ์

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า หลังจากนี้ยังมีแผนงานฟื้นฟูเกษตรกรหลังจากน้ำลด 3 มาตรการ คือ 1. การฟื้นฟูอาชีพ เตรียมพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์น้ำให้เกษตรกรกลับมาทำอาชีพโดยไว 2. ฟื้นฟูพื้นที่ทางเกษตรให้กับสู่ภาวะปกติ โดยกรมพัฒนาที่ดิน 3. ลดหนี้สินให้กับสมาชิกสถาบันการเกษตร และขยายเวลาชำระหนี้

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ขอย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความเสียหายของอุทกภัย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการทุกกระทรวงเร่งแก้ไขปัญหาและรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นให้หน่วยงานภายใต้การกำกับทำงานสอดคล้องกัน และทำแนวทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กับเกษตรกร ทั้งการวางแผนการจัดสระน้ำในฤดูฝน บริหารจัดการน้ำไปจนถึงฤดูแล้ง  ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีมีดำริให้ปรับอัตราการเยียวยาให้กับเกษตรกรให้สอดคล้องกับต้นทุนความเสียหายที่เกิดขึ้น และตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยวาตภัยและดินโคนถล่ม

“ผมยืนยันได้ว่ามาตรการเยียวยาและยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ ของรัฐบาลต้องการทำให้การเยียวยาถึงประชาชนและเกษตรกรอย่างรวดเร็วที่สุดเพราะว่านายกรัฐมนตรีทราบว่าความเดือดร้อนของประชาชนหากช่วยได้เร็วขึ้นซักช่วงเวลาหนึ่ง นี่คือนโยบาย” นายอิทธิ กล่าว

นายอิทธิ กล่าวทิ้งท้ายถึงเงินเยียวยาที่จะช่วยเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลว่า ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี จะประชุมเร่งรัดมาตรการเยียวยาเพื่อให้ถึงมือประชาชนและเกษตรกรโดยเร็ว แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน ซึ่งรัฐบาลและวุฒิสภาต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันด้วยความเป็นห่วงเกษตรกร หวังให้เกษตรกรกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติโดยเร็ว.