ผช.ศ.ธารีทิพย์ ทากิ อาจารย์ประจําสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภค และไรเดอร์ผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร จำนวน 556 คน ช่วงระหว่างวันที่ 3 – 6 ต.ค.2564 ต่อกรณีที่รัฐบาลจะควบคุมค่าคอมมิชชันที่แอปพลิเคชันเรียกเก็บจากร้านอาหาร (ค่า GP) ว่า 67% ของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดค่า GP เพียงเพื่อช่วยร้านอาหาร โดยมีจำนวนถึง 31% ที่มองว่าแนวคิดในการปรับลดค่า GP เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด

ส่วน 49.9% ของผู้บริโภค เกรงว่าหากมีการปรับลดค่า GP จะต้องกระทบต่อราคาค่าบริการที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น และ 45.9% มองว่าอัตราค่า GP ในปัจจุบัน สูงสุดไม่เกิน 30% มีความเหมาะสมแล้ว และจะส่งผลดีในระยะยาวต่อทุกคนในวงจรธุรกิจ ขณะที่ 64.9% ของไรเดอร์ กังวลว่าการปรับลดค่า GP จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าตอบแทนของตน โดย 59% ระบุว่า หากภาครัฐมีการผลักดันเรื่องการปรับลดค่า GP จริงจะรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการพิจารณา

ในแง่ประโยชน์ของบริการฟู้ดเดลิเวอรีนั้น ผช.ศ.ธารีทิพย์ ระบุว่า 77.9% ของไรเดอร์ มองว่าบริการดังกล่าวเป็นช่องทางในการหารายได้เสริมให้กับคนไทย ขณะที่ 56.3% เห็นว่า บริการนี้ช่วยเพิ่มช่องทางในการขายและการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร นอกจากนี้ 85.1% ของผู้ใช้บริการมองว่า บริการดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค โดย 73.4% ระบุว่า บริการฟู้ดเดลิเวอรีช่วยทำให้ไม่ต้องออกนอกบ้าน ซึ่งลดความเสี่ยงในการเจอผู้คนจำนวนมาก

ด้านความคาดหวังที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาปากท้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น มีมากถึงกว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม (ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนเป็นอันดับแรก และ 56.2% ระบุว่ารัฐบาลควรมีมาตรการในการอัดฉีดหรือกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารในระยะยาว ขณะที่ 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังไม่ให้มีการประกาศล็อคดาวน์อีก และ 46.2% เสนอให้มีการประสานให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีการประนอมหนี้ หรือจัดโปรแกรมเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

“จากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนพบว่า การประกาศล็อคดาวน์หรือขอความร่วมมือไม่ให้ออกนอกเคหสถานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหารและเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ประเด็นเรื่องค่า GP ได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเดลิเวอรีแพลตฟอร์มเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการขายของร้านอาหารเท่านั้น ไม่ต่างจากการลงทุนเพื่อเปิดหน้าร้าน หรือการเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าที่ต้องมีค่าใช้จ่ายและมีการคิดส่วนแบ่งการขายเหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับร้านอาหารว่าต้องการเลือกเข้าร่วมใช้บริการหรือไม่ตามความสมัครใจ สำหรับการพิจารณาเพื่อควบคุมกลไกตลาดนั้น ภาครัฐควรดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแต่ร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ในวงจรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าหรือผู้บริโภค ไรเดอร์ รวมไปถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหารด้วยเช่นกัน” ผช.ศ.ธารีทิพย์ ย้ำ