“ภาพบันดาล” นิทรรศการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติและศึกษาต้นแบบสินค้าที่ระลึกภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อต่อยอดสู่สินค้าเชิงพาณิชย์จากฐานทุนวัฒนธรรมของไทย นิทรรศการที่เปิดพรมแดนวงการนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ด้วยประสบการณ์และผัสสะใหม่ที่ไม่ใช่แค่การนำเสนอหรือจัดแสดงผลงานศิลปะให้ผู้ชมสัมผัสด้วยสายตา แต่นำเสนอความงดงามของงานศิลป์หรือสุนทรียะภายในผลงานซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกอันทรงคุณค่าและสร้างสรรค์ นิทรรศการจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ จากนี้ถึง 27 กันยายน 2567 

รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ภัณฑารักษ์นิทรรศการกล่าวว่า “ภาพบันดาล” ได้รับการสนับสนุนผลงานศิลปะจากศิลปินแห่งชาติและศิลปินระดับนานาชาติ ได้แก่ ศ.(เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง, Emer. Prof. Peter Pilgrim, ศ.(เกียรติคุณ) ปริญญา ตันติสุข, รศ.ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ,รศ.สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์, ศ.สุธี คุณาวิชยานนท์,ชลิต นาคพะวัน,รศ.กันจณา ดำโสภี,ผศ.ชัยพร ระวีศิริ, Konstantin Ikonomidis และ ยุรี เกนสาคู โดยนักออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากสุนทรียะของผลงานศิลปกรรมของศิลปิน จากนั้นถ่ายทอดออกมาเป็นงานสามมิติและถอดแบบออกมาเป็นของที่ระลึกให้สอดคล้องกับแนวคิดของงานศิลปะ

ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการฯ พาชม ผลงานภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเชียงทองของศ. (เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง นักออกแบบถ่ายถอดเป็น งานสามมิติในรูปของเครื่องเคลือบเบญจรงค์และเครื่องประกอบโต๊ะอาหาร ขณะที่ ภาพจิตรกรรมชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์หลากหลาย ทั้งสุขและทุกข์ที่ผ่านมาของศ.(เกียรติคุณ) ปริญญา ตันติสุข ได้รับแรงบันดาลใจและถอดสุนทรียะออกมาเป็น โมบายแขวน ที่หมุนวนตามแรงลม สื่อถึงการตั้งมั่นในความดีคือแกนกลางโมบายที่ช่วยให้เรายังคงสมดุลในทุกสถานการณ์นำพาชีวิตไปสู่จุดหมายที่งดงาม

ผลงานภาพ Aqua ของ รศ. สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ถูกนำเสนอผ่านการออกแบบสร้างสรรค์เป็น พัดที่ระลึก โดยได้แรงบันดาลใจจากความเย็นของสายน้ำที่ไหลผ่านอย่างชื่นฉ่ำภายในภาพที่มีลวดลายที่พลิ้วไหว  ผลงาน Today is the best day ของ ศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ที่นำเสนอภาพและถ้อยคำให้เป็นภาษาภาพ (Visual Art) และศิลปะสื่อผสม (Fusion Art) ถูกนำมารังสรรค์เป็นของที่ระลึกเครื่องประดับโต๊ะทำงาน

“Dragon Year” ผลงานของ ชลิต นาคพะวัน ถ่ายทอดถึงการทำงานศิลปะและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยนักออกแบบได้สร้างสรรค์งานของที่ระลึกเป็นงานพิมพ์รอยสัก ขณะที่ผลงานของ รศ.กันจณา ดำโสภี “ Madame Horse: An embracing touch” การรวบรวมประสบการณ์ที่จางหายจากความนึกคิดและความทรงจำ สะท้อนผ่านการเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ของม้าที่ถูกเลี้ยงผ่านตัวละครที่เป็นผู้หญิง โดยในงานออกแบบได้แรงบันดาลใจจากม้าที่แฝงเร้นอยู่ในผลงานของศิลปิน โดยใช้ลักษณะของรูปสามเหลี่ยมนำมาเป็นองค์ประกอบหลักที่เชื่อมโยงกันอย่างละเอียดอ่อน

จากนิทรรศการยังมีผลงานของKonstantin Ikonomidis “The Qaammat Pavilion” ผลงานถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชนพื้นเมืองในแถบขั้วโลกเหนือ ขณะที่งานออกแบบของที่ระลึกได้แรงบันดาลใจ โดยย่อขนาดผลงานของศิลปินให้มีขนาดเล็กลง และ ยุรี เกนสาคู ศิลปินร่วมสมัย (Contemporary Art) นำเสนอผลงาน Hello Pity, the Pianist ศิลปินย้อนกลับมาคิดถึงเป้าหมายความใฝ่ฝัน สิ่งที่ตั้งใจทำในปีที่จะถึงและอนาคต ขณะที่ของที่ระลึกได้แรงบันดาลใจจากองค์ประกอบของเครื่องดนตรีเปียโนที่ปรากฏ นำมาสู่การออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์หูกระต่าย (bow tie) ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งจาก “ภาพบันดาล” ผลงานศิลปะจาก ศิลปินสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดสู่ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์.