การเมืองวันที่ 22 ก.ย. เริ่มจากการตามติดผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ปทุมธานีใหม่ แข่งขันระหว่างแชมป์เก่าที่โดนใบเหลือง ข้อหาเกี่ยวข้องกับการจัดเลี้ยง คือ“ลุงชาญใจดี”นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย และ“บิ๊กแจ๊ส”พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง แชมป์เก่าสมัยที่แล้ว ที่น่าสนใจคือเป็นการวัดพลังพรรคเพื่อไทยในสนามท้องถิ่น
สนามปทุมธานีทำกลุ่มบ้านริมน้ำแตกกับพรรคไปแล้ว เมื่อพรรคแสดงความไม่พอใจที่นายวัน อยู่บำรุง บุตรชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปรากฏตัวไปเชียร์บิ๊กแจ๊ส จนถูก “หัวหน้าอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเตือน และดีดออกจากไลน์กลุ่ม ทำให้ต่อมานายวันย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.)

เรื่องที่กำลังเป็นที่จับตา กลัวจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรม ก็มีความคืบหน้า ล่าสุด นายนิกร จํานง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะเสนอรายงาน กมธ.ต่อที่ประชุมสภาวันที่ 26 ก.ย. แต่ในส่วนการนิรโทษกรรมให้ผู้ต้องคดี ม.112 กมธ.วิสามัญฯ ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงให้ กมธ. แต่ละคนบันทึกความเห็นไว้ในรายงาน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข ..ซึ่งการบอกเช่นนี้ เท่ากับว่า อาจต้องถกเถียงเรื่องนิรโทษคดี ม.112 กันมากในสภา

“รายงานให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอของ กมธ.วิสามัญฯ คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 2548 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง”

สำหรับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก โดยเฉพาะหมวดจริยธรรม นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเราฟังเสียงทุกฝ่าย ไม่ได้รีบร้อนจะแก้มากจนทิ้งปัญหาของประชาชน เราทำควบคู่กันไป

“ขอให้มองรัฐธรรมนูญต้องเป็นหลายชั้น แม้จะมองว่าเป็นประโยชน์กับนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองเข้มแข็งหรือมีอำนาจยึดโยงกับประชาชน จะสามารถใช้อำนาจนั้นทำงานสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนได้ ก่อนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ นักการเมืองต้องมีพลังพอ ประชาชนจะได้รับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลายพรรคเห็นตรงกันที่จะแก้ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมให้มีความชัดเจน ไม่เกิดปัญหาในการบังคับใช้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอให้ยกเลิกในประเด็นจริยธรรมนี้ ย้ำว่าจะเสนอให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานที่ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์

“ส่วนประเด็นปัญหาการครอบงำ เป็นคนละส่วนกัน เป็นขั้นตอนเตรียมยื่นแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 จะยื่นแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ การแก้ไขความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. ทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ สิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรเปิดกว้างให้ทุกคน กฎหมายพรรคการเมืองเรื่องการครอบงำ ควรปรับให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไรๆถือว่าครอบงำไปเสียหมด”นายอนุสรณ์ กล่าว

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย  สว.เห็นด้วยกับการแก้ไขคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง รวมถึงแก้ไขกฎหมายยุบพรรค และการครอบงำพรรค โดยมองว่า ไม่ควรมีโทษยุบพรรค  ถ้ามีคดีควรให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่การยุบทั้งพรรค  เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง อย่าลืมว่า แม้จะมีคนบางส่วนที่กํากับหรือกําหนดแนวทางพรรคได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนจะหายไปจากพรรคการเมือง การแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเขา แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน

นางอังคณา นีละไพจิตร สว.กล่าวว่า ปัญหาของประมวลจริยธรรมอยู่ที่การตีความ เช่นในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องนามธรรม ตีความได้ไม่จำกัดจนน่ากลัว เห็นด้วยในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว โดยเพิ่มคำอธิบายให้รัดกุมมากขึ้น ตอนที่มีการร่างประมวลกฎหมายจริยธรรมขึ้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไปร่วมร่างด้วย โดยเสนอให้รวมกรณีการคุกคามทางเพศเข้าไปด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น รวมถึงการคบค้ากับคู่กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกจะง่ายขึ้น ถ้า สว.เห็นด้วย ซึ่งต้องรอดูท่าที สว.สายสีน้ำเงินด้วย

สำหรับกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ถูกร้องเรียนเรื่องไม่เข้าร่วมประชุม และว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภา บอกทำนองว่า หากมีใบลาก็ถือว่า ทำได้ และ พล.อ.ประวิตรมีใบลา นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. รีบเอามาย้ำชัด “พล.อ.ประวิตรไม่ได้ทำผิดข้อบังคับการประชุม”

นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว และ พล.อ.ประวิตร ก็ทำตามข้อบังคับของกฎหมาย เมื่อไม่ได้ไปประชุมก็ลาอย่างถูกต้องกับเลขาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมเรียกร้องให้พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่ของ สส.บ้าง นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าพรรคที่จะพิจารณา แต่ในทางกฎหมายยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดอะไร หากจะไปประชุม พล.อ.ประวิตรก็ไป หากไปไม่ได้ ก็ลาประชุมอย่างถูกต้องทุกครั้ง

ก็เป็นที่น่าสนใจว่า สังคมจะพอใจกับคำชี้แจงของเลขาสภาฯ และท่าทีของนายไพบูลย์หรือไม่ จะมีวิจารณ์หนักอีกหรือไม่ว่า “แค่ส่งใบลาก็ได้แล้วหรือ” แม้ว่าจะไม่ประชุมถึง 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุม แต่รับเงินเดือน เช่นนี้เข้าข่าย “ถูกต้องเหมาะสมทางจริยธรรมหรือไม่ ?” อาจมีใครเอาเรื่องนี้มาขยายความต่อเหมือนสมัยน้องอดีตนายกฯ บิ๊กตู่ไม่มาประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) บ่อยๆ