เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายนิกร จํานง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเสนอรายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า เรื่องนี้เสร็จมาเป็นเดือนแล้ว แต่เนื่องด้วยจังหวะของสภา การพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงขยับไปเป็นวันที่ 26 ก.ย. นี้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีข้อสรุปสำคัญของทุกเรื่อง ทั้งสภาพปัญหา และรูปแบบของคณะกรรมการ ส่วนความเห็นที่สำคัญของร่างศึกษาฉบับนี้ คือความเห็นต่างว่าการนิรโทษกรรมจะรวมกรณีของผู้ที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ซึ่ง กมธ.วิสามัญฯ ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงให้กรรมาธิการฯ แต่ละคนบันทึกความเห็นไว้ในรายงาน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข

นายนิกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวของ กมธ.วิสามัญฯ ได้ระบุข้อสังเกตว่า ให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอของ กมธ.วิสามัญฯ คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 2548 โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง และยังมีข้อสังเกตว่า กรณีของคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล อาจส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องไปหารือกันว่าจะตีความเรื่องนี้อย่างไร