เมื่อน้ำลดสิ่งที่ทุกคนอยากทำเป็นลำดับแรกคือ สำรวจที่พักอาศัยเพื่อทำความสะอาดก่อนเข้าอยู่ แต่สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่กระแสน้ำก่อนหน้านี้ที่เชี่ยวแรง และท่วมสูง บางส่วนน้ำพัดไปทั้งหลัง บางส่วนที่พักอยู่ติดเชิงเขา ถูกดินถล่ม

ความปลอดภัยก่อนเข้าไปทำความสะอาด และการสำรวจก่อนพักอาศัย จึงสำคัญ โดยเฉพาะตามอาคารสูง หรืออาคารหลังใหญ่อย่าง โรงเรียน โรงพยาบาล ควรมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบมาตรฐานโครงสร้างก่อนใช้งานปกติ

ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงจุดสังเกตให้ประชาชนประเมินเบื้องต้นก่อนเข้าอยู่กับ รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยข้อแนะนำการตรวจสอบโครงสร้างระบบไฟไฟ้าต่างๆ และความรู้เบื้องต้นเพื่อสำรวจและซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมว่า บ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ใกล้เนินเขา ทางลาด อันดับแรกให้สังเกตด้วยตาว่า สภาพดินมีการเคลื่อนตัวหรือไม่ ซึ่งดูได้ไม่ยาก เพราะจะเห็นต้นไม้เอียง พื้นดินเกิดรอยร้าว ขนานไปกับแนวของภูเขา

หากรอยแยกนั้นใกล้กับตัวบ้าน ยังไม่ควรเข้าไป เวลาฝนตกน้ำเยอะดินจะห่อ หรือบริเวณใดที่เป็นทางชัน ดินก็จะเคลื่อนตัว”

สิ่งสำคัญก่อนเข้าบ้านควรสำรวจพื้นที่โดยรอบตัวบ้าน สภาพโครงสร้างของบ้าน ตามรอยต่อ จุดเชื่อมต่อต่างๆระหว่างเสากับคาน ว่ามีการเอียงตัวของเสา หรือกำแพง ผนังตัวอาคาร หรือบ้านมีรอยแตกร้าวบ้างหรือไม่ แนะนำให้เดินสำรวจดูรอบๆก่อน เพราะแม้จะมีรอยเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อดูแล้วไม่มั่นใจก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของหน่วยราชการในพื้นที่ รศ.ดร.วัชรินทร์ ย้ำว่ายังไม่แนะนำให้เข้าไป

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่ต้องระมัดระวังคือ “ปลั๊กไฟ” บ้านที่อยู่พื้นที่ราบ ส่วนใหญ่มักพบปัญหาน้ำท่วมเข้าไปในตัวบ้านทำให้ปลั๊กไฟที่ติดตั้งไว้ใกล้พื้น หรือติดตั้งไว้ต่ำถูกน้ำท่วมไปด้วย ดังนั้น แนะนำว่าอย่าผลีผลามเดินเข้าไป แต่ควรยก“คัท เอาท์”ขึ้น เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าก่อน

จากนั้นให้ทำสัญลักษณ์“ไม่ใช้”ปลั๊กตัวที่อยู่ต่ำ หรือจมน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้ปลั๊กไฟที่จมน้ำ แม้ว่าน้ำจะแห้งสนิทแล้ว เพราะไม่รู้ว่าตอนที่น้ำท่วมมีน้ำซึมเข้าไปเต้ารับบ้างหรือไม่ หรือหากพบว่าผนังอาคาร หรือเสาที่มีปลั๊กไฟติดตั้งอยู่ยังมีความชื้น เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปลั๊กไฟตัวดังกล่าว

พร้อมกันนี้ แนะนำควรต่อไฟจากจุดจ่ายกระแสไฟที่มั่นใจว่าปลอดภัย เช่น ต่อไฟจากชั้น 2 ของตัวบ้าน เป็นต้น และหากไม่มีความชำนาญเรื่องไฟฟ้าให้เรียกช่างไฟช่วยดูความปลอดภัยของปลั๊กในจุดที่ถูกน้ำท่วมอีกครั้ง

สำหรับสาเหตุของอาคารบ้านเรือนที่พังเสียหาย จากการลงพื้นที่“ทีมวิศวกรอาสา”ของวสท.ไปก่อนหน้านี้ รศ.ดร.วัชรินทร์ ระบุ พบข้อมูลส่วนใหญ่เกิดจากกระแสน้ำที่พัดมาแล้วกัดเซาะดินออกไป อาคารบางส่วนอยู่บนดิน ถนนหรือกำแพง ซึ่งตั้งอยู่บนดิน เมื่อถูกน้ำพัดพาไปจากแรงดันน้ำบ้าง หรือน้ำพาดินไปบ้าง ทำให้เกิดการล้ม แตกหัก หรือบางหลังอยู่กีดขวางทางน้ำก็โดนกระแสน้ำพัดเสียหายทั้งหลัง หรือเกิดบ้านเอียง โดยเฉพาะถ้าจุดใดตั้งอยู่บนดินทรายจะทำให้ถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ง่าย

รศ.ดร.วัชรินทร์ เผยว่า วันที่ 25-28 ก.ย. นี้ วสท.จะนำทีมวิศวกรอาสานับร้อยคน เดินทางไปยังจ.เชียงราย เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารสาธารณะต่างๆหลังน้ำลด รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม เพื่อประเมินความเสียหายและความปลอดภัย ก่อนกลับเข้าไปอยู่อาศัยหรือใช้งาน

จากข้อมูลที่ได้มาทราบว่า บ้านเรือนในพื้นที่ต.แม่สาย ราว 300-400 ครัวเรือน และต.เวียงพางคำ ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบมาก”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาจากวิศวกรอาสา แต่ไม่สามารถพาไปดูพื้นที่จริงได้ สามารถถ่ายภาพบ้านและรอยร้าวต่างๆที่เกิดขึ้นส่งมาให้ช่วยประเมิน โดยให้ถ่ายภาพแบบมุมกว้างที่เห็นตัวบ้านทั้งหลัง หรือมุมกว้างที่เห็นการเชื่อมต่อของโครงสร้างกับจุดที่เกิดรอยร้าว และมุมแคบที่เห็นรอยร้าวชัดเจน แต่จะแม่นยำที่สุดคือการลงไปประเมินจากพื้นที่จริง.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน