เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 20 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อสงสัยในการไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สส. จะสามารถลาประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของวันประชุม ในสมัยประชุม ที่มีจำนวน120 วัน ฉะนั้นในช่วงสมัยประชุม 120 วัน ก็ต้องคำนวณว่ามีการประชุมสภากี่ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิน 1 ใน 4 หากขาดเกิน 1 ใน 4 ก็ถือว่าขาดประชุม ซึ่งในทางปฏิบัติเรามีระเบียบการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุม สส. จะทราบระเบียบนี้ ซึ่งมีแบบฟอร์มที่สามารถจะยื่นลาประชุมได้ล่วงหน้าก่อนวันประชุม และหลังจากวันประชุมได้ภายใน 7 วัน และเป็นดุลพินิจในการอนุญาตของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมาประธานสภา ได้มอบหมายให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 ในขณะนั้น เป็นผู้อนุญาต และเมื่อได้ยอดในแต่ละครั้ง ก็จะทำยอดรวมเพื่อรายงานประธานสภาให้ทราบว่า มีสมาชิกลาเท่าไหร่ และหากการลานั้นได้รับอนุญาตจากประธาน ก็ไม่ถือว่าเป็นการขาดประชุม แม้จะเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมก็ตาม โดยให้ยึดตามใบลา และถ้าขาดประชุม 1 ใน 4 โดยที่ประธานไม่ได้อนุญาต ก็ถือว่าขาดการประชุม จะมีผลต่อสมาชิกภาพของ สส.คนนั้น แต่ส่วนมาก สส. ก็จะยื่นใบลา และได้รับการอนุญาต

“ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร ถูกยื่นสอบจริยธรรมในเรื่องนี้นั้น เป็นส่วนที่คณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรม เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในเรื่องนี้ ทราบว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยื่นใบลา ในเวลาที่ไม่มาประชุมทุกครั้ง โดยระบุเหตุผลว่ามีภารกิจในวันนั้น และนายพิเชษฐ์ ก็จะพิจารณาอนุญาต ซึ่งมีหลักฐานการลาของ พล.อ.ประวิตร อยู่” ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ตอนนี้ยังมี สส. คนใดมีปัญหาเรื่องวันลาประชุมอีกบ้าง เลขาธิการสภา กล่าวว่า ยังไม่มี เพราะสมาชิกส่วนมากจะยื่นลาก่อนประชุมและหลังประชุม

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวด้วยว่า สำหรับเอกสารการลาของ สส. นั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบได้เบื้องต้น ว่า ขาด ลา กี่ครั้ง โดยสามารถขอที่กลุ่มงานข้อมูลข่าวสาร เพราะถือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ แต่จะไม่สามารถทราบเหตุผลการลาของ สส. ได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้นจะมีเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถเข้าไปขอข้อมูลเกี่ยวกับการลาของสมาชิกได้อีกด้วย.