เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 19 ก.ย. ที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พ.อ.สุทธิพงษ์ พืชมงคล ผอ.สบพ.ศปป.5 กอ.รมน. และ คณะศปป.5 กอ.รมน. พร้อมสื่อมวลชนเดินทางเข้าติดตามภารกิจของ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. และนายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ให้การสนับสนุนภารกิจ กอ.รมน. ภาค 4 สน.

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เปิดเผยว่า ศอ.บต. ก่อตั้งมาเป็นปีที่ 44 แล้ว โดยองค์กรได้ดูแลพื้นที่ทั้งหมด 5 จังหวัด ซึ่งภารกิจของ ศอ.บต. คือจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จชต., จัดทำแผนปฏิบัติงาน, บูรณาการแผนงานโครงการด้านการพัฒนาของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินการใน จชต. ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ, กำกับเร่งรัด ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือน ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ, คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ อำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน, เยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน จชต., ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน, ส่งเสริมพหุวัฒนธรรม, ส่งเสริมสนับสนุน อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาแก่คนไทยใน จชต. ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์, ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา ในพื้นที่ จชต., เสนอแนะมาตรการสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐ, แนะนำเกี่ยวกับลักษณะอันพึงประสงค์ของเจ้าหน้าที่รัฐใน จชต. และพัฒนาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายนันทพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของ ศอ.บต. มี 4 ประการหลักคือ 1.ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต, 2.ด้านการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม, 3.ด้านอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยาจากสถานการณ์ความไม่สงบใน จชต. และ 4.ด้านการสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี

ต่อมาในเวลา 17.40 น. พ.อ.สุทธิพงษ์ และคณะศปป.5 กอ.รมน. พร้อมสื่อมวลชนได้เดินทางมาที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เพื่อติดตามความคืบหน้าการเปิดใช้ท่าอากาศยานดังกล่าว โดยมีนางสาวชนิดาภา แหลมสัก นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง ให้การต้อนรับ

นายอิทธิพล อับดุลเลาะ นักวิชาการขนส่งด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า สนามบินแห่งนี้เป็นความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ เนื่องจากว่าอำเภอเบตง เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย เนื่องจากเส้นทางที่ลำบากจึงจำเป็นจะต้องมีสนามบินดังกล่าวขึ้น โดยโครงการดังกล่าวเริ่มการก่อสร้างในปี 58 มีพื้นที่ท่าอากาศยานทั้งหมด 921 ไร่ ความยาวทางวิ่ง 30 คูณ 1,800 เมตร ลานจอดอากาศยาน 94 คูณ 180 เมตร รองรับ ATR72 ได้ 3 ลำ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง จำนวนที่จอดรถยนต์ 140 คัน โดยงบประมาณในการก่อสร้างอยู่ที่ 1,900 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอสายการบินมาลง คาดว่าจะมีมาลงเสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย. 67 นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการขยายรันเวย์มากขึ้น.