โรคสมาธิสั้นหรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เป็นโรคที่เกิดจากระบบประสาทพัฒนาการ ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ทำงานบกพร่อง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดสมาธิ ควบคุมตนเองได้น้อย อยู่เฉยไม่ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบมากในช่วงวัยเรียน

เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีอาการร่วมกันอย่างหนึ่งซึ่งแทบจะสังเกตไม่พบเพราะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ

ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวสารทางการแพทย์ “เมดิคัลนิวส์ ทูเดย์” แห่งสหราชอาณาจักร ชี้ว่าปัจจุบัน คนอังกฤษในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ และจำนวน 80% ในกลุ่มผู้ใหญ่นั้นมีอาการผิดปกติของการนอนหลับบางประเภทด้วย

กลุ่มอาการดังกล่าวได้แก่ ภาวะนอนหลับล่าช้า (Delayed Sleep Phase Syndrome หรือ DSPS) ซึ่งเป็นพฤติกรรมการนอนหลับและตื่นนอนช้ากว่าเวลาที่ต้องการ ผู้มีอาการ DSPS มักจะเลื่อนเวลาเข้านอนออกไปจากที่ตั้งใจไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ชม.

คนจำนวนมากมีพฤติกรรมเป็นพวกชอบนอนดึก ชอบใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมในช่วงกลางคืน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งเมื่อต้องตื่นตามเวลาในเช้าวันถัดไป พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอและทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายปั่นป่วน

ข้อมูลจากระบบบริการสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (NHS) ชี้ว่า คนที่ไม่ค่อยมีสมาธิมักจะมีแนวโน้มว่าเป็นพวกที่เข้านอนดึก ส่วนคนที่มีอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่สุข มักจะมีปัญหาว่านอนไม่หลับ

ส่วนคนที่พบว่าการตื่นนอนตอนเช้าเป็นเรื่องลำบากยากเย็นนั้น ก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับโรคสมาธิสั้น 

ทาง NHS ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ความผิดปกติหรือปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการนอนนั้นจะเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังและหมั่นสังเกต นอกเหนือไปจากอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนร่วมด้วย ได้แก่ สนใจเรื่องใดก็ตามเพียงช่วงสั้นๆ, ขี้ลืม, ขาดสมาธิในการทำงาน, มีปัญหาเรื่องการจัดระเบียบสิ่งที่ต้องทำ

นอกจากนี้ยังมีอาการในลักษณะของภาวะที่อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ มีความหุนหันพลันแล่น เช่น นั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้, พูดมาก, ทำสิ่งใดก็ตามโดยไม่ยั้งคิด, ไม่สนใจความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES