ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เขื่อนน้ำพุง บริเวณสวนสน หมู่ที่ 6 บ้านคำเพิ่ม ตำบลโคกภู อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติและวันรักษ์เขื่อนน้ำพุง ประจำปี 2567 โดยมีนายสดึง คำมุงคุณ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการด้านการประมง, นายกรวีร์ บุญหมั่น หัวหน้าแผนกโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำพุง, นายอัศวิน ศรีคำขลิบ นายอำเภอภูพาน, หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรีตำบลโคกภู ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมง เจ้าหน้าที่สังกัด กฟผ. คณะครู-นักเรียนจากโรงเรียนเขื่อนน้ำพุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำฯ ในครั้งนี้ โดยร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนขาว จำนวน 200,099 ตัว เพื่อให้กลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งได้รับมอบจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร พร้อมทั้งร่วมกันปลูกต้นไม้ “ชมพูพันธุ์ทิพย์” จำนวน 50 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบเขื่อน

ทั้งนี้วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประมงแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบัน สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ หรือปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกทำลาย ตลอดจนเป็นการสนับสนุนอาชีพประมงและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประกอบอาชีพทำการประมง สร้างจิตสำนึก หวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำ กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดฯ ดำเนินการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โดยคัดเลือกแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสม เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และขอความร่วมมือจากชาวประมงและประชาชน งดจับสัตว์น้ำทุกชนิด ในวันที่ 21 กันยายนของทุกปี

สำหรับ “เขื่อนน้ำพุง” จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ และนับเป็นเขื่อนแรกที่สร้างเสร็จในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนน้ำพุงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยการพลังงานแห่งชาติ ส่งมอบให้การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) เป็นผู้ดูแลรักษาและดำเนินการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้โอนไปยังสังกัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันมีขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 6 เมกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้ นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและแก้ปัญหาช่วงฤดูแล้งด้วย