“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า  กรมทางหลวง(ทล.) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัทวิศวกร 31 จำกัด บริษัทอินฟรา พลัส จำกัด บริษัทเคพีเอ็มอี จำกัด และบริษัทสิ่งแวดล้อมสยามจำกัด  จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ(สัมมนาครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข42(ทล.42)กับทล.4356(แยกบานา)และตัดถนนรามโกมุท  เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมอบจ.ปัตตานี  โดยมีผู้นำชุมชน  หน่วยงานและส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วม

โครงการฯได้ชี้แจงและประชาสัมพันธ์โครงการออกแบบทางแยกต่างระดับฯ และการออกแบบปรับปรุงถนนเชื่อมต่อถึงจุดสิ้นสุดโครงการ(มัสยิดกรือเซะ) เนื่องจากทล.42(ถนนสายปัตตานี–นราธิวาส) เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักเชื่อมจังหวัดภาคใต้ตอนล่างพาดผ่านจ.ปัตตานีมีชุมชนและสถานที่สําคัญหลายแห่ง

โดยแยกบานาและแยกถนนรามโกมุทห่างกัน 600 เมตร มีลักษณะเป็น3แยกใช้สัญญาณไฟจราจรการ   ประชาชนในพื้นที่จ. ปัตตานีไม่ได้รับความสะดวกในการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากมีปริมาณการจราจรหนาแน่นมีทางแยกและจุดกลับรถที่ไม่สะดวกทำให้ขับขี่รถย้อนศรก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

ในการศึกษาโครงการฯคลอบคลุมพื้นที่ 500 เมตร รวม 11 หมู่บ้าน 3 ตำบล   ต.บานา  ต.ตะลุโบะ และ ต.ตันหยงลุโละ อ. เมือง จ. ปัตตานี  เพื่อคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมโดยพิจารณาทุกมิติทั้งด้านวิศวกรรม  เศรษฐกิจ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)  เบื้องต้นมีแนวคิดรูปแบบทางแยกต่างระดับด้วยการก่อสร้างสะพาน3รูปแบบ

1.เป็นสะพานคู่(ขาเข้า-ออก)  ตามแนวทล.42 ข้ามจุดตัดถนนรามโกมุทและข้ามแยกบานา  

2. เป็นสะพานเดี่ยว(ทิศทางเดียว)ตามแนวทล.42เฉพาะด้านที่จะไปจ.นราธิวาส 

3. เป็นสะพาน Ramp เลี้ยวขวาทิศทางจาก นราธิวาสเลี้ยวขวาขึ้นสะพานไปลงถนนรามโกมุท  และอีกตัวเป็นสะพานเดี่ยวจากปัตตานีข้ามแยกบานาไปนราธิวาส  

โดยพื้นราบทั้ง 2 จุดตัดที่แยกบานาและรามโกมุทเป็นแบบสัญญาณไฟจราจรทั้ง 3 รูปแบบ  พร้อมออกแบบปรับปรุงถนนเชื่อมต่อจากทางต่างระดับจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการ(มัสยิดกรือเซะ) เพื่อให้รถสวนทางได้  ป้องกันการย้อนศรเพิ่มความปลอดภัยและให้ชุมชนได้รับความสะดวกในการเดินทางตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป 

 ทั้งนี้จะใช้เวลาศึกษาโครงการฯ 450 วัน(15 เดือน)  จะจัดประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่  และจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 เพื่อสรุปรูปแบบที่เหมาะสมประมาณเดือนม.ค. 68  และนำความคิดเห็นไปประกอบการศึกษาฯเพิ่มเติมก่อนประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 สรุปผลการศึกษาโครงการประมาณเดือนส.ค. 68  ส่วนวงเงินงบประมาณก่อสร้างต้องรอสรุปผลการศึกษาที่ชัดเจนลงลึกถึงรูปแบบทางวิศวกรรมคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1 พันล้านบาทมีแผนเสนอของบประมาณก่อสร้างปี 69-70