เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการอาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ และนายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าว อสส.สั่งฟ้องคดีตากใบ โดย นายประยุทธ เปิดเผยว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจากพล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผช.ผบ.ตร.รักษาการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ซึ่งทั้งสองคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหาที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้ายแล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปลันไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์

ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีประชาชนเป็นกลุ่มมวลชนประมาณ 300-400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งพื้นที่อำเภอตากใบในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึกอรวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาของผู้ต้องหาทั้งหกมาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไขเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที พร้อมทั้งโห่ร้องขับไล่ยั่วยุเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์วุ่นวายได้ทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรม (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่าง ๆ และจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณอ16.00 น. เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40-50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19.00 น. นำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.00 น. เมื่อนำตัวผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 8 เป็นพลขับ โดยมีผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้งสองคดีมีรายละเอียด ดังนี้

1.สำนวนวิสามัญฆาตกรรมมี พ.ต.อ.พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหา มีผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2 นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3 ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4 นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5 พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6 พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 คดีดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่

2.สำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวน ได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน ต่อมาในระหว่างไต่สวนได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา

โดยญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ

และในปี 2548 พนักงานอัยการได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาลพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษธ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

จนต่อมาวันที่ 12 กันยายน อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ในการนำตัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งทางอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มารับทราบข้อหากล่าว ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง ขาดอายุความคดีอาญา 20 ปี ไม่สามารถดำเนินคดีได้อีก

สำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเองนั้น ชื่อผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียง พล.อ.เฉลิมชัย ผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันทั้งในสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนและสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง ส่วนขั้นตอนต่อไปหากอัยการยื่นฟ้องสำนวนคดีต่อศาลแล้ว จะนำไปรวมกับสำนวนคดีที่ประชาชนฟ้องเองและศาลได้ประทับฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล และเรื่องของอายุความคดีที่ศาลประทับฟ้องคดีไว้แล้วจะเป็นอย่างไรในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีข้อมูล

สำหรับในสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้อง ซึ่งมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ต้องหานั้น จะได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 เนื่องจากอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนศาลจะได้มีหนังสือไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะให้เอกสิทธิ์คุ้มครองหรือไม่ รวมทั้ง มีหมายเรียก และมีหนังสือแจ้งให้ พล.อ.พิศาล ทราบว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้ พล.อ.พิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละเอกสิทธิ์คุ้มครองและมาศาล ซึ่งศาลจังหวัดนราธิวาานัดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

เมื่อถามว่าคดีนี้สำนวนที่ถูกดองมาเนิ่นนานเป็นเวลา 19 ปีเคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลในเชิงสถิติ แต่ตั้งแต่ตนเป็นอัยการมาไม่เคยได้ยินมาก่อน ที่ว่าเป็นเรื่องแปลกหรือไม่คิดว่าทุกคนสามารถตอบแทนกันได้

เมื่อถามว่าอัยการมีสิทธิเร่งรัดคดีจากพนักงานสอบสวนหรือไม่ นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการไม่สามารถเร่งรัดพนักงานสอบสวนได้ เพราะทางตำรวจเองก็ทราบดีอยู่แล้วถึงระยะเวลาในการฝากขัง ระยะเวลาในการดำเนินงาน สำหรับประเทศไทยเราแยกดำเนินการในการ จับกุม สอบสวนเป็นของตำรวจ อำนาจฟ้องร้องและการสั่งคดีเป็นของอัยการเพราะฉะนั้นกฎหมายปัจจุบันเรายังแยกกันอยู่ เพราะฉะนั้นหากทางตำรวจพนักงานสอบสวนยังไม่ส่งอัยการก็ไม่สามารถก้าวล่วงไปเร่งรัดสำนวนกับตำรวจได้ แต่เมื่อตำรวจส่งมาแล้ว หน้าที่อัยการคือพิจารณาสั่งฟ้องให้ทันฝากขังประกันหรืออายุความ ในทางกลับกันหากทางตำรวจส่งมาช้า ตำรวจก็ต้องเป็นคนที่จะต้องรีบหาตัวผู้ต้องหา ให้มาฟ้องภายในอายุความเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาที่ทางท่านอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องทั้ง 8 คนยังไม่ได้มีการฟ้องต่อศาล อยู่ในระหว่างอัยการสูงสุดส่งสำนวนกลับไปให้ทางอัยการจังหวัดปัตตานีเพื่อให้อัยการจังหวัดปัตตานีแจ้งพนักงานสอบสวนไปติดตามแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 8 เนื่องจากในขณะที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีนี้มา ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาเลย เพราะพนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหามาโดยตลอด

นายประยุทธ กล่าวว่า เรื่องหมดอายุความของคดีนี้ ตนขออธิบายให้เข้าใจว่า หลังจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา หนังสือแจ้งคำสั่งว่าบัดนี้อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คนในข้อหา ร่วมกันฆ่าคน ไปที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับหนังสือที่ระบุว่าคดีนี้จะขาดอายุความเมื่อใด ให้เอาตัวมาส่งฟ้องภายในวันที่เท่าไหร่ ถ้าไม่ได้ตัวอย่างไรก็ขอให้ศาลดำเนินการออกหมายจับโดยเร็ว ดังนั้นหน้าที่ต่อไป ทาง ผบ.ตร.ก็จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปติดตามตัวมาส่งอัยการนำตัวมา เพื่อให้อัยการทำสำนวนฟ้อง พร้อมตัวผู้ต้องหาส่งศาลและฐานะของผู้ต้องหาก็จะเปลี่ยนเป็นจำเลย อายุความจะหยุด ก็ต่อเมื่อได้ตัวส่งศาลแล้ว

ทั้งนี้นายประยุทธ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การที่คดีตากใบมีความล่าช้านาน 19 ปี มาจากเหตุผลใด ให้ไปสอบถามทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกมีการใช้เวลาสั่งฟ้องคดีนาน พร้อมย้ำว่าหากสุดท้ายแล้วเกิดมีผลกระทบที่เป็นความเสียหายจากการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ก็ให้สังคมและทุกภาคส่วนช่วยกันถอดเป็นบทเรียน.