จากกรณี นางทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ “Thicha Nanakorn” ถึงประเด็นการต้องยุติการทำหน้าที่ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก โดยสรุปใจความได้ว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 กองทรัพยากรบุคคลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แจ้งว่างบประมาณ 2568 ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชน จะถูกตัด หรือยุติการทำหน้าที่ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก ทำให้มีสุ้มเสียงเตือนว่ามาจากสาเหตุที่ตนเองวิจารณ์หนักเรื่องการเมือง ข้องเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และวิจารณ์การทำงานของราชการมากเกินไป

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีกรมพินิจฯ และนางพรทิวา ทองหล่อ ผอ.กองบริหารทรัพยากรบุคคลกรมพินิจฯ ได้ออกมาตอบประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องจากนโยบายของสำนักงาน ก.พ. และกรอบงบประมาณ เนื่องจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนของป้ามล มีสถานะเป็น “พนักงานราชการ” เมื่อครบวาระพิจารณางบประมาณ จึงต้องมีการประเมินตามรอบ แต่ไม่ใช่การยุติบทบาทของป้ามล ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการเดินทางเยี่ยมเยือนบ้านกาญจนาฯ หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 17 ก.ย. เพื่อเคลียร์ปัญหา หลังมีข่าวตัดงบประมาณตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งมีสถานะเป็นพนักงานราชการจนอาจกระทบกับตำแหน่งผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ ซึ่งก็คือ “ป้ามล” นางทิชา ณ นคร ซึ่งทำงานด้านนี้มานาน

โดยผลกระทบอาจถึงขั้นต้องปิดบ้านกาญจนาภิเษก ภายหลังจากที่ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเจ้าหน้าที่ระดับสูง เดินทางไปยังศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก เพื่อพบกับ นางทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” โดยมีอดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ จัดกิจกรรมและนิทรรศการต้อนรับ นั้น นางทิชา ได้บรรยายสรุปการทำงานของศูนย์ฝึกฯ ว่า เด็กต้องการระบบนิเวศที่เหมาะสมและต้องการหลักประกัน โดยเครื่องมือในบ้านกาญจนาภิเษก แสดงผลงานเชิงประจักษ์แล้วว่า บ้านกาญจนาภิเษกฯ คือ Social Lab เป็นองค์กรสาธารณะที่มีความสำคัญ

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในสังคมไทยมีความพยายามเนรเทศคนเข้าไปในดินแดนต้องห้าม ไม่รับเสียงของพวกเขา จึงอยากมีระบบที่จะทำให้ “ผู้ก้าวพลาด” ไม่กลับไปสู่วงจรเดิม และสามารถคืนคนคุณภาพสู่สังคม ฉะนั้น การเดินทางมาในครั้งนี้ก็เพื่อมาให้กำลังใจ และอยากได้องค์ความรู้จากสถานที่แห่งนี้ เพราะที่นี่มีแนวทางและนวัตกรรมในการนำคนคุณภาพกลับคืนสู่สังคม ด้วยความเชื่อว่ารัฐมีกฎระเบียบที่เป็นโซ่ตรวนให้การขับเคลื่อน ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ป้ามลเองได้สร้างประโยชน์ไว้มากมาย โดยเฉพาะการบูรณะคนที่ถือเป็นเรื่องยากและยิ่งใหญ่ เพราะการซ่อมแซม การบูรณะนั้นยากยิ่งกว่าการสร้างใหม่ ซึ่งบ้านกาญจนาภิเษกฯ ได้ขับเคลื่อนงานป้องกันด้วยการให้การศึกษา ความรู้ การให้คำปรึกษา และกระบวนการต่างๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนเยาวชนได้ ขณะที่ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจฯ ก็เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มีประวัติทำงานในภาคใต้จนได้รับการยอมรับในพื้นที่

ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ อธิบดีกรมพินิจฯ ได้ชี้แจงประเด็นที่มีกระแสข่าวการยุติบทบาทบ้านกาญจนาภิเษก และตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯ ว่า บ้านกาญจนาภิเษกฯ อยู่ในโครงสร้างของกรมพินิจฯ แม้จะเป็นหน่วยงานเอกชน แต่เพราะได้รับงบประมาณ 100% จากกรมพินิจฯ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของราชการ ส่วนตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนของป้ามล มีสถานะเป็น “พนักงานราชการ” เมื่อครบวาระพิจารณางบประมาณ จึงต้องมีการประเมินตามรอบ แต่ที่ผ่านมาอาจไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนนี้ที่มากพอ จึงมีข่าวว่าอาจตัดงบประมาณของตำแหน่งของป้ามล จึงเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งการยุบตำแหน่งเกิดขึ้นได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านกาญจนาภิเษก แต่เป็นเพราะการไม่มีข้อมูลนำเสนอสำนักงาน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานเท่านั้น

พ.ต.ท.ประวุธ แจงอีกว่า ส่วนการให้สัมภาษณ์ว่าจะยุติบทบาทบ้านกาญจนาภิเษก เป็นเพียงการตอบคำถามสื่อมวลชนไปตามข้อเท็จจริงที่ว่า กรมพินิจฯ ยังมีศูนย์ฝึกอบรมอีกหลายแห่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปิดบ้านกาญจนาฯ ทั้งนี้ ตนช่วยเหลือประชาชนมาตลอดชีวิต จนมารับตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจฯ ก็ได้ตั้งใจว่าสิ่งใดทำให้เด็กเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ ตนก็สนับสนุนทุกกรณี

ทั้งนี้ บรรยากาศการหารือระหว่างผู้บริหารกรมพินิจฯ กับบ้านกาญจนาภิเษกฯ เริ่มคลี่คลาย เมื่อ พ.ต.ท.ประวุธ ยืนยันว่าได้รับข้อมูลผลการปฏิบัติงานของบ้านกาญจนาภิเษก และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ นำข้อมูลเสนอต่อสำนักงาน ก.พ. จนผ่านการพิจารณาแล้ว โดยจะคงบทบาทการปฏิบัติงานของศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาฯ ต่อไป พร้อมกันนี้ก็ยอมรับข้อบกพร่องของฝ่ายราชการที่ขาดการประสานงานกับบ้านกาญจนาภิเษก ขณะเดียวกันยังการพูดถึงการผลักดัน มาตรา 55 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ให้มีผลในเชิงปฏิบัติ กรณีให้อำนาจอธิบดีกรมพินิจฯ สามารถออกใบอนุญาตให้เอกชนจัดตั้งสถานฝึกและอบรมเด็กหรือเยาวชนได้ โดยออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อเปิดช่องทางให้เอกชนร่วมพัฒนาพฤตินิสัยเด็กและเยาวชนก้าวพลาดในรูปแบบที่หลากหลายและมีกฎหมายรองรับ.