เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กล่าวถึงการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม. หลังพบการแพร่ระบาดว่า ที่ผ่านมา สพส. ร่วมกับ สำนักงานเขต เข้าร่วมกิจกรรมลงแขก ลงคลอง จับปลาหมอคางดำ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของและลดปริมาณ ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร โดยสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการครั้งนี้

ในส่วนของหน่วยงาน กทม. ได้นำเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เข้าไปช่วยจับปลาหมอคางดำในลำคลองสาธารณะ ในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด ทั้งเขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และบึงมักกะสัน เขตราชเทวี ซึ่งพบว่ามีปริมาณน้อย ทั้งนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันพบว่าสามารถจับปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 320,000 กิโลกรัม โดยปลาหมอคางดำที่จับได้นั้น ทางกรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบนำไปดำเนินการตามแนวทาง เช่น ทำน้ำหมักหรือปุ๋ย เป็นต้น

สำหรับในส่วนของ สำนักพัฒนาสังคม ก็ได้ส่งเสริมในการนำมาแปรรูปจำหน่าย เช่น วิสาหกิจชุมชนในบางเขต ที่นำอวนไปจับปลาเอง ก็ได้นำมาแปรรูปเป็นปลาหมอคางคำแดดเดียวมีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท หรือทำเป็นอาหารพร้อมทานแจกให้กลุ่มเปราะบางในโครงการ Food Bank โดยคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต (คคพ.เขตฯ) ซึ่งมีผู้อำนวยการเขตเป็นประธานเป็นผู้ดำเนินการ

“การดำเนินการในรูปแบบของการทำกิจกรรมร่วมจับปลาหมอคางดำนั้น ก็จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะควบคุมปริมาณได้ โดยจะร่วมมือกับสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการจับเพื่อทำลายและลดปริมาณปลาหมอคางดำให้น้อยลงมากที่สุดเพื่อให้กลไกทางธรรมชาติสามารถควบคุมกันเองได้”

ส่วนเรื่องการเยียวยาสำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดนั้น ผอ.สำนักพัฒนาสังคม ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวมรวมข้อมูลสรุปความเสียหายของเกษตรกร หลังการลงสำรวจแล้ว จากนั้นจะนำส่งข้อมูลที่ได้ไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) เพื่อให้ส่งต่อไปยังกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อีกครั้ง ทั้งนี้ จะต้องรอให้ ปภ. ออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกฎหมายต่อไป.