เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. แถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมของ สปสช. รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” ว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ 46 ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งได้มีการเปิดดำเนินโครงการมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ก.ย. โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งจะมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เข้าร่วมในพิธีเปิดงานด้วย

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สปสช. จึงได้ออกประกาศ 4 ฉบับ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ 2.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในการรับบริการสาธารณสุข ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการเข้ารับบริการทุกครั้งขอให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบสิทธิ 3.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการ ที่ให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงฐานข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวก จัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐานและกฎหมายอย่างปลอดภัย และ 4.ประกาศการกำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับหน่วยบริการที่ให้บริการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สำหรับติดตั้งที่หน่วยบริการเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงจุดบริการ

“ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่หน่วยปฐมภูมิที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ แล้วจำเป็นต้องส่งตัว ในราชกิจจานุเบกษากำหนดว่า สามารถใช้เป็นแบบกระดาษเหมือนเดิมก็ได้ หรือหากไม่ได้ให้กระดาษมา ผู้ป่วยก็สามารถไปยังหน่วยบริการที่รับส่งต่อแล้วใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ตนแนะนำว่า ไหนๆ ก็ไปที่สถานพยาบาลปฐมภูมิต้นทางแล้ว ก็ขอใบส่งตัวแบบกระดาษจะมั่นใจที่สุด ส่วนกรณีที่ 2 ที่ผู้ป่วยไม่ได้ไปยังหน่วยปฐมภูมิที่มีตราสัญลักษณ์ เพราะผู้ป่วยอาจจะประเมินตัวเองว่าหนัก อาจจะไม่ฉุกเฉินวิกฤติ แต่ก็คิดว่าหนักพอแล้วไป รพ.ระดับสูง ในประกาศของเราระบุว่า หน่วยบริการนั้นสามารถใช้ระบบส่งต่อที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ หมายความว่าเนื่องจากมีการเชื่อมข้อมูลกันอยู่แล้ว หากหน่วยฯ ไม่มั่นใจ กังวลเรื่องการจ่ายเงินก็โทรฯมาที่ 1330 เป็นกลไกยืนยันว่า สปสช.จะมีการจ่ายเงินให้ เพราะมีการบันทึกบทสนทนาไว้” นพ.จเด็จ กล่าว 

เมื่อถามว่า หากส่งตัวไปยัง รพ.ระดับสูงแล้ว เกิดปัญหาหน้างานจะแก้ปัญหาอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่เราแนะนำ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้ติดต่อมายัง 1330 เพื่อเป็นคนประสาน จากเมื่อก่อนเวลาประสาน 1330 แล้ว ทุกคนจะไม่มั่นใจว่า กฎหมายรองรับหรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ยืนยันว่า เรามีประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าจะเป็นระบบคอลเซ็นเตอร์ แต่สามารถใช้ได้จริง ส่วนใหญ่ รพ.จะกังวลว่า ใครจะจ่ายค่ารักษา แล้ว สปสช.จะจ่ายหรือไม่ ก็ยืนยันว่าเราใช้กลไกนี้ได้  

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของการดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกที่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการให้บริการโดยหน่วยบริการในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โดยข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ให้บริการไปแล้วจำนวน 7.57 ล้านครั้ง เป็นเงินเบิกจ่ายค่าบริการทั้งสิ้นกว่า 5,910 ล้านบาท ส่วนหน่วยบริการนอก สป.สธ. แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการจำนวน 251,172 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการเป็นจำนวนกว่า 181 ล้านบาท 

หน่วยบริการภาครัฐอื่นๆ นอกสังกัด สธ. ให้บริการตามนโยบายฯ แล้วจำนวน 419,428 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวนกว่า 314 ล้านบาท, หน่วยบริการรัฐพิเศษ ให้บริการจำนวน 10,909 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวน 20.02 ล้านบาท หน่วยบริการที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 267,275 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวน 24.64 ล้านบาท สำหรับในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภทนั้น ได้แก่ คลินิกเอกชนต่างๆ และร้านยาคุณภาพ ภาพรวมให้บริการตามนโยบายฯ แล้วจำนวน 416,315 ครั้ง เบิกจ่ายค่าบริการจำนวนกว่า 168.13 ล้านบาท

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 5.4 ล้านคน ไม่รวมประชากรแฝง โดยผู้มีสิทธิบัตรทองนอกจากการรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตามสิทธิแล้ว ยังรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 280 แห่ง และหน่วยบริการทางเลือกใหม่อีก 1,369 แห่ง ที่มีตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ประกอบด้วย 1.คลินิกเวชกรรม 171 แห่ง 2.คลินิกทันตกรรม 195 แห่ง 3.ร้านยาคุณภาพ 910 แห่ง 4.คลินิกกายภาพบำบัด 23 แห่ง 5.คลินิกพยาบาล 13 แห่ง 6.คลินิกแพทย์แผนไทย 28 แห่ง และ 7. คลินิกเทคนิคการแพทย์ 29 แห่ง  

นอกจากนี้ ยังได้นวัตกรรมบริการ 10 ประเภทคือ1.แอปพลิเคชันส่งยาถึงบ้าน 2.บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วย 16 แห่ง 3.รถทันตกรรมเคลื่อนที่ 3 คัน ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง 4.รถเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน 5.บริการระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านแอปสุขภาพ ณ ห้องพยาบาลโรงเรียน  93 แห่ง 6.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ที่ห้างสรรพสินค้า และสถานประกอบการต่างๆ 133 แห่ง 7.สถานีสุขภาพ รับบริการผ่านตู้เทเลเมดิซีน ติดตั้งที่ชุมชน 22 แห่ง 8.หน่วยบริการในสถานีบริการน้ำมัน 4 แห่ง 9.หน่วยบริการบนสถานีรถไฟฟ้า, สนามบิน 2 แห่ง และ 10.หน่วยบริการล้างไตด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบ ขณะนี้เชื่อมโยงผ่าน Health Link แล้ว 94% มีแอปพลิเคชันที่ใช้ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. 4 แอป 1.หมอ กทม. 2.เป๋าตัง 3.DMS PHR ของกรมการแพทย์ และ 4.กลาโหม PHR ที่จะเป็น รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม