เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลัง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ. .. ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ต้องรอกฎหมายดังกล่าว วุฒิสภาจะแก้ไขหรือไม่ หากมีการแก้ไขต้องกลับมาที่สภา เพื่อมาหารือว่าจะแก้ไขตามที่วุฒิสภาแก้ไขหรือไม่ แต่ สส. ก็ยืนยันว่า การใช้เสียงข้างมากธรรมดาเป็นสิ่งที่ดีกว่า และเป็นหลักสากล

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สมมติ หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ขั้นตอนที่1 ทำประชามติสอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากเห็นชอบจะไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยต้องทำประชามติครั้งที่ 2 หากประชาชนเห็นชอบ ส.ส.ร. ก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญจนให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็จะทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร

เมื่อถามว่าพรรคประชาชนยังติดใจคำถามประชามติครั้งแรกห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยเป็นมติ ครม. ตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ดังนั้นรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ต้องยืนตามนี้ อย่างไรก็ตามจะมีเรื่องการแก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่นั้น ท้ายสุดเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ก็ต้องเขียนระบุไว้อยู่แล้ว

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ตนได้รับการประสานกับพรรคประชาชน เขามีความคิดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตราฐานจริยธรรม และเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ โดยจะเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้รัดกุม ไม่ให้เกิดการตีความที่กว้างขวาง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลไปพอสมควรแล้ว ซึ่งทุกพรรคการเมืองในสภาฯ จะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

เมื่อถามว่ากรอบเวลาในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะเป็นอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยากจะทำให้เร็ว แต่เราต้องถามประชามติไป เพราะเป็นการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะทำไปพร้อมกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งคาดว่าทำในช่วงเดียวกับการเลือกตั้ง อบจ. ในต้นปีหน้า หรือ 2568 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยเรื่องการแก้ไขรายมาตรา จะทำประชามติเพียงครั้งเดียว