เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อดูว่าเป็นอย่างไรและซักซ้อมในเรื่องสิ่งสนับสนุนและประสานงานให้ทุกจังหวัดทุกอำเภอที่มีความเสี่ยง มีการเตรียมความพร้อมและกำชับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปาะบาง กลุ่มติดบ้านติดเตียง และกำชับในเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็น จมน้ำ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมเวชภัณฑ์ในการรองรับดูแลให้เพียงพอซึ่งขณะนี้มีการจัดส่งเวชภัณฑ์ไปครบแล้ว

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่าแบ่งจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มยังไม่ได้รับผลกระทบและมีแนวโน้มที่น้ำจะมาถึง อย่างเช่น จ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์และเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม โดยเฉพาะโรงพยาบาลมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าโรงพยาบาลน้ำท่วมแล้วช่วยตัวเองไม่ได้คงไปช่วยพี่น้องประชาชนไม่ได้ จุดสำคัญที่สุดคือโรงพยาบาลต้องน้ำไม่ท่วมเพื่อที่เป็นจุดช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 

นพ.โอภาส กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 คือจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมี จ.หนองคาย และ บึงกาฬ โดยระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น อย่างโรงพยาบาลหนองคายมีน้ำท่วมขังและบริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่ แต่โรงพยาบาลยังสามารถรองรับดูแลประชาชนได้และได้สั่งการให้เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ซึ่งถ้าประชาชนมาโรงพยาบาลไม่ได้ ก็จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าช่วย ขณะนี้มีการระดมทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 10 กว่าทีม โดยมีทั้งจังหวัดใกล้เคียงและส่วนกลางเข้าไปช่วยสนับสนุน 

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่เริ่มคลี่คลายจากสถานการณ์ อย่างเช่น จ.เชียงราย ซึ่งขณะนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ต้องมีการฟื้นฟูทำความสะอาดบ้าน เฝ้าระวังโรคระบาดโดยเฉพาะ “โรคฉี่หนู”  เป็นโรคที่มากับน้ำ อาการในระยะแรกจะไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว บางคนอาจคิดว่าเป็นเพราะทำงานหนักไม่ได้พักผ่อน ซึ่งต้องมีการระมัดระวัง รวมทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ลงไปช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งแช่น้ำนาน อย่างคนที่มาจากต่างถิ่นบางครั้งไม่มีภูมิคุ้มกันเท่ากับคนในพื้นที่ หากได้รับเชื้อโรคจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ ฝากเน้นย้ำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้แนะนำการป้องกันด้วย สุดท้ายนี้ยังมีการซักซ้อมเรื่องสิ่งสนับสนุนและระบบการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะปลอดภัยในการทำงาน

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยการเปิดศูนย์พักพิงอีก 41 แห่ง แบ่งเป็น จ.เชียงราย 19 แห่ง จ.เชียงใหม่ 5 แห่ง และจ.หนองคาย 17 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ 

ทั้งนี่ในส่วนสถานการณ์ 5 จังหวัด ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” มีดังนี้  1.จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 7 ตำบล 24 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 2,978 ครัวเรือน  2. จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 19 ตำบล 109 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 24,925 ครัวเรือน  3. จ.หนองคาย ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ 21 ตำบล 80 หมู่บ้านและประชาชนได้รับผลกระทบ 218 ครัวเรือน  4. จ.เลย ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 8 ตำบล 15 หมู่บ้าน  และ 5. จ.บึงกาฬ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 3 ตำบล สำหรับจังหวัดที่รอรับน้ำต่อไปมีความเสี่ยงสูงมาก คือ มุกดาหาร และเสี่ยงสูงคือ นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี  

นพ.โอภาส กล่าวว่า มีการเตรียมมาตรการระยะฟื้นฟูด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลังเกิดอุทกภัย  6 มาตรการ ดังนี้ 1. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยการจัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (MERT) และชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (Mini-MERT) 2.ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (MCATT) 3. เฝ้าระวังตอบสนองแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและข้อร้องเรียน โดยทีมพิเศษฉุกเฉินด้านสุขภาพ (พฉส.) (SHERT) 4. ฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมของหน่วยบริการสาธารณสุข โดยทีมสนับสนุนระบบบริการสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน  (MSERT) 5.เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และ 6. สนับสนุนการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ผลสรุปการปฏิบัติงานดูแลด้านสุขภาพจิตยังพบภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน  รวมทั้งในส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับผลกระทบมี 67 คน โดยต้องเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยจิตเวชไม่ให้ขาดยา บริการจัดส่งยาจิตเวชในพื้นที่ประสบภัยโดยเฉพาะพื้นที่ที่หน่วยบริการได้รับผลกระทบ และประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบรวม 2,762 คน    

ขณะเดียวกันพบสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบจำนวน 18 แห่ง  สสอ. 2 แห่ง รพ. 2 แห่ง และ รพ.สต. 14 แห่ง เปิดให้บริการ 13 แห่ง โดยจังหวัดเชียงราย 8 แห่ง และจังหวัดหนองคาย 5 แห่ง อีกทั้งปิดให้บริการ 3 แห่ง คือจังหวัดหนองคาย 3 แห่ง ทั้งนี้ยังพบบุคลากรสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 591 ราย.