เมื่อวันที่ 15 ก.ย.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   เปิดเผยว่า ได้ให้แนวทางการทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ ว่าแม้จะมีหน้าที่อนุรักษ์ และฟื้นฟู แต่ในยามที่ประเทศชาติกำลังวิกฤต กระทรวงทรัพยากรฯ  ก็ต้องมีความพร้อมเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยสถานการณ์อุทกภัยในจ.เชียงราย ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักในหลายอำเภอ นอกจากได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้เฝ้าระวังแล้ว ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมสนับสนุน ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทันที โดยตลอดช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเครื่องบินปีกตรึง และเฮลิคอปเตอร์ เข้าร่วมสนับสนุนภารกิจการลำเลียงสิ่งของทางอากาศ ประกอบด้วย ถุงยังชีพ และเวชภัณฑ์ เพื่อนำไปส่งต่อให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย อย่างต่อเนื่อง

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มอบภารกิจให้กับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการและประสานงาน ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระดับพื้น (ทส.) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเตรียมกำลังพล ยานพาหนะ เครื่องมือ น้ำดื่ม อาหาร และยาที่จำเป็น รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอด 24 ชม. ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด สำหรับบริการประชาชน ให้กรมทรัพยากรธรณีวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดธรณีพิบัติภัย เพื่อเตรียมการแจ้งเตือนเฝ้าระวัง โดยให้สื่อสารผ่านทุกช่องทาง ให้ประชาชนรับทราบ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดมาตรการ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติ บริเวณน้ำตก ถ้ำ ถ้ำลอด เกาะ แก่งต่าง ๆ โดยการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน การปิดกั้น และการห้ามนักท่องเที่ยวหรือบุคคลใดเข้าพื้นที่ที่กำหนด โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนัก หรือตกหนักมากในพื้นที่ ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจสำหรับศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยานบินสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยนั้น ได้มอบภารกิจให้จัดทำแผนรับมือสถานการณ์ และการช่วยเหลือลำเลียงสิ่งของทางอากาศ ให้กรมควบคุมมลพิษเฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่น้ำท่วมหรือพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด โดยจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า  กรณีเกิดสถานการณ์อุทกภัยในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และเกิดคลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง ต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ทราบถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงอันตราย โดยการงดกิจกรรมทางทะเล หรือออกห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล ดังนั้นทุกหน่วยงานในสังกัดต้องรายงานสถานการณ์มายังศูนย์อำนวยการและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบโดยเร็ว เพราะต้องการให้ศูนย์ดังกล่าวมีข้อมูลให้มากที่สุด นอกจากจะใช้ในการประเมินสถานการณ์ วางแผนการเผชิญเหตุ เตรียมแผนรับมือวิกฤติ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ยังใช้ในการตัดสินใจสั่งการในเชิงนโยบาย ตลอดจนประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย.