เมื่อเวลา 19.05 น.วันที่ 13ก.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาวาระคณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ต่อเนื่องเป็น วันที่2  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยระบุว่า หลักคิดของผู้บริหารองค์กรที่ดี คือทุกปัญหามีคำตอบ ต่างจากผู้บริหารองค์กรที่ล้มเหลว ซึ่งมักคิดว่า ทุกคำตอบมีปัญหา

“โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรค แต่ผมก็ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถหาคำตอบ เพื่อทำให้สำเร็จได้” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวยืนยัน ว่า นโยบายดังกล่าว รัฐบาลทำแน่ และทำไปแล้ว ทันทีที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นวันแรก ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายได้โดยเร็ว แบ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลดำเนินการเอง คือ สายสีแดง สายสีม่วง จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน แต่ส่วนที่รัฐสัญญาให้สัมปทานกับเอกชน จะต้องใช้เวลาดำเนินการภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีความสงสัยว่าจะทำได้หรือ

นายสุริยะ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่รับตำแหน่งเพียงไม่ถึง 2 เดือน กระทรวงคมนาคมสามารถทำตามนโยบายของรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง ได้ทันที สำหรับสายอื่นที่เหลือ จำเป็นต้องมีการใช้อำนาจทางกฎหมาย และได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าต้องใช้เวลาอีก 2 ปี คือภายในเดือนก.ย.68

“การเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 20 บาทตลอดสายนั้น รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างแน่นอนภายในเดือนกันยายน 2568 จะเป็นคนละส่วนกับการซื้อคืนสัมปทานให้บริการเดินรถจากเอกชน เรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียด ในประเด็นนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนและร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ ชี้แจงต่อว่า ในส่วนข้อสงสัยว่ารัฐจะนำเงินส่วนใดมาอุดหนุนส่วนต่างให้ผู้ประกอบการหลังลดค่าโดยสารแล้ว ว่า กระทรวงคมนาคมมีหลักคิดว่า เงินอุดหนุนส่วนต่างหลังลดค่าโดยสาร จะเป็นเงินจากกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พร้อมชี้แจงว่า ยังมีเงินอีกหลายส่วนที่ไม่จำเป็นต้องนำมาจากภาษีประชาชนโดยตรง แต่สามารถขอเงินจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นการนำเงินจากผู้ใช้น้ำมัน มาลดการใช้น้ำมัน ให้เกิดการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

“ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลดังกล่าว รัฐบาลทำได้ ทำจริง ทำเร็ว ทำให้เห็นมาแล้ว และจะทำต่อไป ภายใต้กำกับของท่านนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติโดยรวม” นายสุริยะ กล่าว

ด้านนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ชี้แจงโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีข้อสงสัยให้ควรจัดเก็บเช่นเดียวกันกับรถเมล์ของ ขสมก. ว่า ในปัจจุบันนี้รถเมล์มีอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-45 บาท ซึ่ง 8 บาทแรกถือเป็นค่าแรกเข้า และกิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 1 บาท แต่สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าซึ่งมีสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน มีการจัดเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท ซึ่งเป็นค่าแรกเข้า 15 บาท ระยะทางต่อไปกิโลเมตรละ 2 บาท  โดยจะเห็นได้ว่าทั้งสองส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากสามารถจัดเก็บสูงสุดได้ไม่เกิน 45 บาท และเป็นการเก็บค่าแรกเข้าและเก็บตามระยะทาง

นางมนพร  กล่าวย้ำว่า  นโยบายนี้ เป้าหมายสูงสุดคือการช่วยเหลือ ลดค่าครองชีพ และค่าเดินทางของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าพี่น้องประชาชนมีความพึงพอใจกับนโยบายนี้.