เมื่อเวลา18.50น. วันที่ 13ก.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาวาระคณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ต่อเนื่องเป็น วันที่ 2  

โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส.) ชี้แจงกรณีการป้องกันและปราบปรามดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ว่า รัฐบาลได้ทำภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างการจัดตั้งศูนย์ AOC ที่เป็นศูนย์บริการครบวงจร ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกันหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ กสทช. มีวอร์รูมทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ที่สำคัญขณะนี้ มีการอายัดระงับบัญชีคนร้าย เพิ่มประสิทธิภาพในการจับกุม และเร่งเยียวยาผู้เสียหายโดยการคืนเงิน ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนใช้บริการไปแล้วกว่า 980,000 ราย เฉลี่ยต่อวันวันละ 3,000 ราย ระงับบัญชีม้าไปแล้วกว่า 290,000 กว่าบัญชี ถือว่าได้แบ่งเบาความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวกรอง ที่เป็นการสร้างความตระหนักรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ซึ่งได้มีการคัดกรองข้อมูลถึง 1,140 ล้านข้อมูลในโซเชียลมีเดีย และมีการปิดกั้นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า ได้เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน กว่า 920,000 บัญชี ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องซิมม้า มีการระงับเลขหมายโทรศัพท์ที่มีการโทรเกินกว่า 100 ครั้งต่อวัน มีการระงับไปแล้วประมาณ 71,000 เลขหมาย รวมถึงการกำหนดให้ผู้ที่ถือครองซิมมากกว่า 100 ซิมมายืนยันตัวตน ซึ่งได้ระงับคนไม่มายืนยันไปแล้ว 1,100,000 เลขหมาย นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาซื้อของซื้อสินค้าไม่ตรงปก จะมีการออกมาตรการในวันที่ 3 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยกำหนดให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสินค้าได้ก่อน ที่จะจ่ายเงิน หากพบว่าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ก็สามารถระงับการจ่ายเงินได้ภายใน 5 วัน ขณะที่การป้องกันข้อมูลรั่วไหล มีหน้าที่ตรวจสอบและคุ้มครองข้อมูลของประชาชน ซึ่งมีการตรวจสอบไปแล้วกว่า 43,561 หน่วย และพบว่ามีข้อมูลรั่วไหลในตลาดมืดลดลง

นายประเสริฐ ยังกล่าวถึง ระบบการเตือนภัยผ่านระบบโทรศัพท์มือถือว่า คาดว่าในไตรมาสแรกปี 68 จะสามารถเชื่อมต่อระบบได้ และในไตรมาสที่สองจะมีการทดสอบระบบเซลล์บรอดแคส โดยขณะนี้มีการทดลองระบบโอเปอร์เรเตอร์ไปแล้วส่วนหนึ่ง ยืนยันว่า สิ่งต่างๆนอกจากจะต้องทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะมีการเพิ่มนโยบายเข้ามาอีกหลายอย่าง เช่น การสร้างกลไกในความรับผิดชอบของบริษัทโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์ ต่อจากนี้การบูรณาการการทำงานร่วมกันจะต้องเกิดมากขึ้น หากหน่วยงานไหนมีการปล่อยปละละเลย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือภาครัฐ หากปฎิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ระมัดระวัง หรือขัดต่อกฎหมาย จะต้องมีความรับผิดชอบ และรัฐบาลกำลังสร้างกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องนี้อยู่ และมีการพัฒนาคนทางด้านนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ตนจะรับข้อสังเกตไว้ หากเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมจะนำไปปฏิบัติ.