เพื่อขยายสถานการณ์ดังกล่าว“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสพูดคุยกับนายธีระ วัชรปราณี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ซึ่งฉายภาพสถิตินักดื่มไทยว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ หากเปรียบเที่ยบกับเมื่อปี 2546 กับปี 2564 พบในปี 2546 ตั้งแต่อายุ 15ปีขึ้นไป มีนักดื่มอยู่ประมาณ 20 ล้านคน แต่เมื่อปี 2564 มีเกือบ 16 ล้านคน
จากจำนวนข้างต้นพบว่ามีจำนวน 1.76 ล้านคน มีภาวะติดสุรา ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถิตินักดื่มลดลงคือพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ทำให้การดื่มโดยรวมไม่สูงมากจนเกินไป อีกหนึ่งเหตุผลคือสภาพเศรษฐกิจและสังคมระยะหลังจะสังเกตได้ว่า หลังเศรษฐกิจชะลอตัวและเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีผลต่อสถิติดังกล่าว
สำหรับ“นักดื่มหน้าใหม่”ในช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี โดยรวมถือว่ายังทรงตัว แต่หากดูในปี 2546 พบว่ามีร้อยละ 16 ส่วนปี 2564 เหลืออยู่ร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม ต้องดูผลการสำรวจครั้งต่อไป
ผอ.สคล. ยังระบุถึงอันตรายจากการดื่ม อย่าง โรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ รวมถึงผลต่อมะเร็งอย่างน้อย7ชนิด (มะเร็งช่องปาก , มะเร็งคอ , มะเร็งหลอดอาหาร , มะเร็งตับ , มะเร็งเต้านม , มะเร็งท่อน้ำดี , มะเร็งลำไส้ใหญ่)และผลต่อการทำลายสมอง นอกจากนี้ ยังมีผลเรื่องทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุ จากสถิติที่รวบรวมล่าสุดในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยกว่า 2 หมื่นคน
พฤติกรรมการดื่มพบมี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม เช่น การทำให้เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดาของสังคม ยกตัวอย่าง การเห็นโฆษณาในสื่อออนไลน์ รวมถึงการซื้อหาเข้าถึงง่าย ไปที่ไหนก็เห็น ตลอดจนงานประเพณี และเทศกาลต่างๆ ก็มีการดื่มสังสรรค์ของผู้คน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยแวดล้อมที่อาจทำให้ใครสักคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา
อีกด้านเป็นปัจจัยส่วนบุคคล เช่น การเห็นคนรอบข้างดื่ม หรือการชักชวนจากเพื่อน การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ปัจจัยแวดล้อม ต้องมีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ที่แข็งแรง สถานที่ซื้อ-ขาย การโฆษณา เกณฑ์อายุ หรือผู้ซื้อให้เข้มงวด ยกตัวอย่าง งานประเพณี มีการปล่อยให้ขายและดื่มโดยไม่มีการควบคุม ทั้งที่ควรจัดโซนการดื่มเพื่อลดปัญหาในหลายมิติ
ส่วนพฤติกรรมการดื่มในลักษณะยาดอง ผอ.สคล. ระบุ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักดื่ม“วัยผู้ใหญ่” หน้าเก่าและเป็นขาประจำ ไม่พบนักดื่มหน้าใหม่ดื่มยาดอง ข้อกังวลในกลุ่มนิยมยาดองคือ การที่ไม่มีทางรู้เลยว่ามีส่วนผสมใดอยู่บ้าง รวมถึงเรื่องความสะอาดและสารปนเปื้อนในกระบวนการผลิตหรือผสม
อย่างไรก็ตาม การเปิดซุ้มยาดองในแหล่งต่างๆ อาจเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น ผู้คนอาจเห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะพบโดยทั่วไปง่าย ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดี ในส่วนนี้จำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน