เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ  รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162  โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวชี้แจงถึงภาพรวมของแนวนโยบายรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า แนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทยเราเน้นในมิติเศรษฐกิจ และปากท้องของพี่น้องประชาชน วิสัยทัศน์ของรัฐบาลนี้ เราวาดภาพประเทศไทยที่จะไปในทิศทาง หรือจุดใดได้อย่างชัดเจน

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อห่วงใยว่าเหตุใดแนวนโยบายแห่งรัฐถึงคล้ายคลึงกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถานั้น รัฐบาลนี้เราสืบทอดอุดมการณ์มาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงไม่ต่างกัน หากเทียบกับพรรคแกนนำฝ่ายค้านที่ก็สืบทอดเจตนารมณ์จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบมา ดังนั้นแนวความคิดจึงสืบทอดกันมาเป็นเรื่องปกติ

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ ข้อห่วงใยในการเติบโตทางเศรษฐกิจตามศักยภาพของประเทศ ที่รัฐบาลยืนยันว่า เรามองต่างกัน เพราะรัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตที่ 5% แม้จะมีข้อจำกัด แต่นี่คือวิสัยทัศน์ และความพยายามของรัฐบาลชุดปัจจุบันให้เติบโตทางเศรษฐกิจในจุดที่เหมาะสม และกระจายความมั่งคั่งให้ประชาชนได้อย่างเหมาะสม

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึง โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ว่า สภาผู้แทนราษฎรเราได้ผ่านการพิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่หนึ่งปีที่แล้ว และได้รับความเห็นชอบผ่านมติเสียงข้างมากของสภาฯ ก่อนจะส่งต่อให้แก่ ครม. พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งทาง ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาร่างกฎหมาย และปรับแก้ให้มีความเหมาะสมต่อไป และในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว ทั้งเรื่องระเบียบวิธีการต่างๆ ของภาครัฐ และมีการทำประชาพิจารณ์ไปกว่า 80% ซึ่งถือว่า ประชาชนให้การยอมรับ

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการของกระทรวงการคลังภายหลังมีคำสั่งเก่านั้น ก็จะส่งร่างกฎหมายไปยัง ครม. เพื่อส่งตรวจร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อบรรจุต่อสภาฯ และพิจารณาผ่าน 3 วาระ ตามปกติ แต่ในส่วนของผลประโยชน์ในมิติทางเศรษฐกิจนั้น ได้มีการทำแบบจำลอง ‘เศรษฐกิจระดับมหภาค’ โดยใช้ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวหลัก ซึ่งพบว่า สามารถแบ่งผลประโยชน์ต่อประเทศไทยได้ 2 ช่วงคือ 1.ช่วงการก่อสร้าง ซึ่งใช้เวลา 3-4 ปี และช่วงเวลาเปิดบริการเต็มรูปแบบ

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงแรกของการลงทุนจริง อย่างน้อยจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่จุดละ 100,000 ล้านบาท ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าจุดละ 0.23 และมีการลงทุน 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และการจ้างงานจะได้รับผลในเชิงบวก โดยมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 10,000 ตำแหน่งต่อเม็ดเงินลงทุน หลังจากนั้นเมื่อครบ 3-4 ปี ในกระบวนการลงทุนจะเข้าสู่ช่วงเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเต็มอัตรา

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หากเทียบกับประเทศสิงคโปร์จะพบว่า สถานบันเทิงครบวงจรจะสามารถเพิ่มรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวไม่ต่ำกว่า 22,300 บาท ส่วนประเทศไทยถีบเอารายจ่ายต่อหัว 66,000 บาทเศษ และหากนับจากฐานนักท่องเที่ยว 36 ล้านคน โดยประมาณ ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% ดังนั้น เมื่อรวมผลกระทบทั้งโครงการแล้ว ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมจะประมาณ 1 กว่าๆ และแยกเป็น 3 ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว และรายละเอียดอื่นๆ ในเรื่องของการดูแลรายได้ภาครัฐ การกำกับดูแล และการเยียวยาประชาชนต่างๆ ที่สมาชิกรัฐสภาได้ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลได้รับไว้เพื่อพิจารณา และจะผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งสุดท้ายคือ หน้าที่ของรัฐสภาที่จะพิจารณาตัวร่างกฎหมาย และปรับให้มีความเหมาะสมต่อไป.