สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ว่านายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ลงพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และยืนยันว่า แผนการระบายน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ลงสู่ทะเล “ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น” ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งประเมินสถานการณ์ และเตรียมแผนการรองรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ทั้งในด้านความปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศ


ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ มีมติเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ให้เตรียมทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะประมาณ 1.25 ล้านตัน จากอ่างเก็บ 1,020 แห่ง ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ภายในระยะเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเสียภายในโรงไฟฟ้าที่รองรับปริมาณน้ำได้สูงสุด 1.37 ล้านตัน จะเต็มความจุภายในปี 2565 โดยน้ำเสียทั้งหมดจะผ่านกระบวนการกรองเพื่อลดสารอันตรายลงไม่น้อยกว่า 40% ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล


ขณะที่เมื่อมีการระบายน้ำเสียออกจนหมด ซึ่งจะต้องใช้เวลา “นานหลายสิบปี” ผู้ที่เกี่ยวข้องนำโดยบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแห่งใหม่ที่ต้องได้มาตรฐานระดับสูง เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนที่หลอมละลายจนใช้การไม่ได้แล้ว โดยเทปโกยืนยันการใช้ครื่องกรองน้ำเสียประสิทธิภาพสูง เพื่อคัดแยกสารอันตรายออกจนเกือบหมด คงเหลือเพียงทริเทียม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าต้องเป็นการบริโภค “ปริมาณมหาศาล” จึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต

อย่างไรก็ตาม จีนและเกาหลีใต้ยังคงประท้วงอย่างหนักว่า “ไร้ความรับผิดชอบ” และขอให้ประชุมร่วมกันอีกครั้งก่อน ด้านสหรัฐออกมาปกป้องญี่ปุ่น ว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) แม้ปริมาณน้ำที่จะปล่อยลงสู่ทะเลนั้น มากกว่าเกณฑ์ของไอเออีเอหลายเท่าตัว.

เครดิตภาพ : AP