เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดยนางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่า ขอชื่นชมรัฐบาลที่กำหนดนโยบายให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ซึ่งทำให้ผู้เสพยาเสพติด ได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิต และได้รับการบำบัดโดยสมัครใจ แทนการลงโทษจำคุก กรณีนี้อาจทำให้จำนวนนักโทษลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำจะลดลง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน และแม้สมัครใจรับการรักษาแทนการจำคุก แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยได้ไปบำบัดรักษา คนเหล่านี้ยังอยู่ในสังคมอยู่ในครอบครัว

นางอังคณา กล่าวว่า  เป็นความท้าทายมาก เพราะเรื่องปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นภาระของครอบครัวและชุมชนอย่างมาก เนื่องจากชุมชนขาดศักยภาพในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ขณะที่กรมคุมประพฤติเอง ก็มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ และบุคลากร ทั้งการทำงานด้านการสืบเสาะ หรือติดตามการบำบัดรักษา

นางอังคณา ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุ จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามยาเสพติด โดยมีความกังวลว่า รัฐบาลจะสร้างหลักประกันได้อย่างไร ว่า ความร่วมมือดังกล่าว จะไม่เป็นการปราบปราม โดยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ซึ่งปรากฏในรายงานของสหประชาชาติว่า ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ทั้งการค้า และการบังคับสูญหาย ซึ่งทำในนามของการปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามการก่อการร้าย

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่า การแก้ปัญหายาเสพติด จะไม่ซ้ำรอยนโยบายในช่วงสงครามยาเสพติดที่ผ่านมา เนื่องจากภายหลังการดำเนินนโยบายนั้น มีคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวน 2,604 คดี และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,873 ราย ประกอบด้วยคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด รวมถึงไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนั้น ยังมีคนถูกบังคับให้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งยังมีการระบุว่า มีคนหายมากกว่า 10 กรณี จากกรณีคนหายในประเทศไทยทั้งหมด 77 กรณี โดยส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคอีสาน

“วันนี้คดีการเสียชีวิตของคนนับพันคนหมดอายุความ โดยไม่มีใครต้องรับผิดหรือรับโทษ จนชาวบ้านบอกว่า มีคนตาย มีคนหาย แต่ไม่มีคนผิด” นางอังคณากล่าว

นางอังคณา กล่าวว่า ในเรื่องการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐบาลจะสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือความโปร่งใสได้อย่างไร ในเมื่อประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และประชาชนไม่เคยเข้าถึงสิทธิที่จะสร้างความจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ

“การลอยนวลพ้นผิด คือการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน โดยไม่มีผู้ใดรับผิด การลอยนวลพ้นผิด จึงเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศ และเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะหลักนิติรัฐคือการรับประกันว่า ประชาชนทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย รัฐจะปกป้องผู้ไร้อำนาจจากผู้มีอำนาจ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกทำลายลง รัฐจะสร้างความเท่าเทียมหรือพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนทำผิดต้องถูกลงโทษ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดแทบไม่มีใครถูกลงโทษ” นางอังคณากล่าว

นางอังคณา กล่าวว่า  การพลิกฟื้นความเชื่อมั่นที่สำคัญ ไม่ใช่แค่การพูด แต่คือการที่รัฐต้องทำให้ประชาชนเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างแท้จริง รัฐต้องไม่ปกป้องคนผิด ไม่ปล่อยให้มีการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม และการอุ้มหาย รัฐบาลต้องยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของประเทศไทย ตนอยากได้ยินคำมั่นจากรัฐบาลในประเด็นนี้

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจงว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าเราจะยึดหลักนิติธรรม และยกระดับหลักนิติธรรมของเราให้เข้มแข็ง คำว่าการแก้ปัญหายาเสพติดให้เด็ดขาดของเราก็คือดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้มีการดำเนินการนอกกฎหมาย ที่สำคัญอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าวันนี้เราได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งตนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันฯ หากมีการจับกุมจะต้องมีกล้องบันทึก หรือมีภาพให้ญาติดู เพื่อเป็นหลักประกัน  ส่วนเรื่องอดีตเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเราเข้าใจและจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ยาเสพติดเป็นภัยในความรู้สึกของประชาชนทุกคน และเชื่อว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้.