เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลนัดสอบคำให้การ คดี อ578/2567 ที่น.ส.ฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ผู้แทนนายอาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง ผู้ตายที่ 1 กับพวกรวม 48 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับพวก รวม 9 คน จำเลยข้อหาหรือฐานความผิด ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, พยายามฆ่า, หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง, ข่มขืนใจ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย, เสรีภาพ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส หรือคดีตากใบซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 คน

‘ประธานสภา’แจงไม่มีหนังสือขอตัว‘พิศาล’ขึ้นศาลสอบคดีตากใบ

คดีนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลมีคำสั่งประทับฟ้อง ในส่วนจำเลยที่ 1, 3-6 และ 8, 9 มีมูลความผิดในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 มาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

และให้ยกฟ้อง ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัสโดยกระทำทารุณโหดร้าย และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 7

โดยนัดสอบคำให้การจำเลยที่ 1, 3-6, 8, 9 และตรวจพยานหลักฐานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานวันนี้ โจทก์ที่ 1, 3-19, 21-29, 31-33, 35-38, 41-47 ทนายโจทก์ทั้งสี่สิบแปด ทนายโจทก์ที่ 1, 2, 3, 5, 6, 8, 37, 26 และพนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยที่ 8, 9 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 2, 7 ศาลมีคำสั่งยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วไม่มา ศาลรอจนกระทั่งเวลา 10.30 น. จำเลยที่ 1, 3-6, 8, 9 และทนายจำเลยที่ 1, 8, 9 และทนายจำเลยที่ 2, 4, 5 ทนายจำเลยที่ 3, 6, 7 ไม่มา

ศาลสอบพนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยที่ 8 และที่ 9 แถลงว่า หลังจากศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลก็ไม่ได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 8 และที่ 9 อีกเลย ศาลให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อทนายฝ่ายจำเลยตามหมายเลขที่เคยให้ไว้ ได้ความในลักษณะเดียวกันว่า หลังจากศาลอ่านคำสั่งว่าคดีมีมูลในนัดที่แล้วก็ไม่ได้รับการติดต่อจากตัวความอีกเลย จึงไม่ทราบความประสงค์ว่าจะให้เป็นทนายความในคดีต่อไปหรือไม่ และจะให้การอย่างไร

พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3-6 และที่ 8 กับที่ 9 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 กับที่ 9 เพื่อนำตัวมาศาลภายในอายุความ 20 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คือ ภายในวันที่ 25 ต.ค. 2567

ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐธธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมีให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด” เมื่อขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2667 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 จึงได้รับความคุ้มกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ศาลไม่มีอำนาจออกหมายจับ จึงให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.มีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรอนุญาตให้จับจำเลยที่ 1 โดยให้ถ่ายสำเนาคำฟ้องคดีนี้ คำสั่งคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ578/2567 (คดีนี้) และรายงานกระบวนพิจารณาฉบับนี้อย่างละ 1 ฉบับ รับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับแนบไปด้วย

2.หมายเรียกจำเลยที่ 1 มาศาลในนัดหน้า

3.มีหนังสือด่วนที่สุดถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ศาลนี้ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคหนึ่ง และขอเชิญให้จำเลยที่ 1 แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสละความคุ้มกัน และมาศาลในนัดหน้าเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคดีนี้

การส่งหนังสือตามข้อ 1 ให้ส่งผ่านทางสำนักงานศาลยุติธรรม การส่งหมายเรียกตามข้อ 2 ให้ส่งทางเจ้าพนักงานศาล ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดและมีผลทันทีทางหนึ่งกับส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีกทางหนึ่ง เป็นหมายศาล และการส่งหนังสือตามข้อ 3 ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอย่างหนังสือราชการของศาลนี้

การดำเนินการตามหมายจับในส่วนของจำเลยที่ 3-6, 8, 9 ให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และเห็นสมควรให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วย โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (5) ให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยที่ 1 ที่ 3- 6 และที่ 8 กับที่ 9 ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน กับติดตามผลการจับกุมจำเลยที่ 3-6, 8, 9 และฟังผลการขออนุญาตจับกุมจำเลยที่ 1 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 15 ต.ค. นี้ เวลา 09.00 น. ปิดประกาศที่หน้าศาล แจ้งวันนัดให้คู่ความทราบที่ไม่มาศาลทราบ

สำหรับคดีนี้จำเลยที่ถูกยื่นฟ้องทั้ง 9 ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว. จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว.

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบในขณะนั้น จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสภ.อ.ตากใบ ปัจจุบันเป็น รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็น ผวจ.นราธิวาส