สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ว่า รายงานที่เสนอต่อการประชุมสภานิติบัญญัติระดับสูงสุดของประเทศ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ระบุว่า จีนได้พัฒนาพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงมากกว่า 1 พันล้านหมู่ (ราว 416 ล้านไร่) จนถึงสิ้นปี 2566 โดยภูมิภาคระดับมณฑลที่เป็นแหล่งผลิตธัญพืชหลัก 13 แห่ง ครองส่วนแบ่งราว 70% ของทั้งหมด


พื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูง หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีแปลงเพาะปลูกติดกัน พร้อมระบบชลประทานขั้นสูง การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของดินดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเกษตรสมัยใหม่ การมีดินปลอดมลพิษ และการให้ผลผลิตสูง รวมถึงความสามารถต้านทานภัยแล้งและอุทกภัย


รายงานที่เสนอต่อการประชุมของคณะกรรมการถาวร ประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) ชุดที่ 14 เน้นย้ำความพยายามปรับปรุง และขยับขยายระบบชลประทานขนาดกลางและขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมสร้างการควบคุมและการจัดสรรการใช้น้ำเพื่อรักษาทรัพยากรน้ำ สำหรับความมั่นคงทางธัญพืชของจีน


ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีระบบชลประทานของจีนเพิ่มขึ้น 123 ล้านหมู่ (ราว 51.25 ล้านไร่) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้จำนวนรวมอยู่ที่ 1,075 ล้านหมู่ (ราว 448 ล้านไร่) ซึ่งปัจจุบันผลิตธัญพืช 77% และพืชเศรษฐกิจมากกว่า 90%


ประสิทธิภาพทางการชลประทานของจีนได้พัฒนาดีขึ้น โดยอัตราการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจาก 0.53 เมื่อปี 2557 เป็น 0.576 เมื่อปี 2566 ส่วนการใช้น้ำเฉลี่ยต่อหมู่ของที่ดิน ซึ่งมีระบบชลประทานลดลงจาก 402 ลูกบาศก์เมตร อยู่ที่ 347 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ผลผลิตธัญพืชต่อน้ำชลประทานหนึ่งลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจาก 1.58 กิโลกรัม เป็นมากกว่า 1.8 กิโลกรัม


นอกจากนั้น จีนเดินหน้าให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่หล่อเลี้ยงปากท้องประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ด้วยพื้นที่เพาะปลูกเพียง 9% ของทั้งหมดในโลก โดยมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงผลผลิตธัญพืชตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น สร้างพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงเพิ่มขึ้น และส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรต่าง ๆ.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA