สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงมานากัว ประเทศนิการากัว เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ว่า การเพิกถอนสัญชาติอดีตนักโทษการเมือง 135 คนเป็นไปตามการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่างประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา กับนางโรซาริโอ มูริลโญ รองประธานาธิบดี และภริยาของออร์เตกา

คำพิพากษาของศาลในกรุงมานากัว ระบุว่า นักโทษซึ่งถูกเนรเทศ 135 คน ถูกเพิกถอนสัญชาติ จากการตัดสินว่า “กระทำความผิดทางอาญาที่คุกคามอำนาจอธิปไตย เอกราช และสิทธิของประชาชนนิการากัว” พร้อมสั่งยึดทรัพย์สินทั้งหมดบุคคลเหล่านี้ ทำให้จำนวนสมาชิกฝ่ายค้านที่ถูกเพิกถอนสัญชาติตั้งแต่ต้นปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 451 คน หากอ้างอิงจากข้อมูลอย่างเป็นทางการ

นายเปโดร กูติเอเรซ หนึ่งในบุคคลซึ่งอยู่ในรายชื่อดังกล่าว ยอมรับว่า “มันเป็นการโจมตีที่รุนแรง” โดยเขาถูกจับกุม เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา จากการจัดประท้วงเพียงคนเดียว เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายโรลันโด อัลวาเรซ บาทหลวงที่ถูกคุมขัง

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้น ขณะที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า กฎหมายใหม่ของนิการากัว ซึ่งบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะนำไปสู่การปราบปรามผู้ต่อต้านประธานาธิบดีที่รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี และมีการยึดทรัพย์สินสำหรับการกระทำต่าง ๆ เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ และความผิดต่อรัฐหรือสถาบัน

นายคริสเตียน ซาลาซาร์ โฟล์กมันน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ในนครเจนีวา ทางตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า การปฏิรูปเหล่านี้อาจเพิ่มความรุนแรง กับการข่มเหงและปราบปรามชาวนิการากัว ตลอดจนผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ทั้งนี้ ออร์เตกาปล่อยตัวนักโทษจำนวนมากเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา และมีการเนรเทศนักโทษมากกว่า 200 คน ไปยังสหรัฐ และผู้ที่ได้รับอิสรภาพ มีโอกาสขอสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐ ด้านกัวเตมาลา ซึ่งเสนอสถานะผู้ลี้ภัยให้ด้วย

นอกจากนี้ มีองค์กรนอกภาครัฐ หรือเอ็นจีโอมากกว่า 5,500 แห่ง ในนิการากัว ต้องปิดตัวลง นับตั้งแต่มีการประท้วงครั้งใหญ่ เมื่อปี 2561 รวมถึงองค์กร เซฟ เดอะ ชิลเดรน ด้านยูเอ็นคาดการณ์ว่า การประท้วงที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว อย่างน้อย 300 คน ส่วนตะวันตกนำโดยสหรัฐ พากันออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลนิการากัว

อนึ่ง โอเอชซีเอชอาร์เผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของนิการากัว ภายใต้การนำของออร์เตกาและมูริลโญ ว่า “กำลังเสื่อมถอยลงอย่างร้ายแรง” หลังมีการจับกุมฝ่ายตรงข้ามโดยพลการ การทรมาน การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในสถานกักขัง ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นต่อชนพื้นเมือง และการโจมตีเสรีภาพทางศาสนา

ขณะที่นางเวนดี โมราเลส อัยการสูงสุดนิการากัว ออกมาตอบโต้ว่า เอกสารดังกล่าวเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรม อคติ ผิดกฎหมาย และมีวาระซ่อนเร้น.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES