เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม จากพรรคเพื่อไทย เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการ หลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีปลัดกระทรวงคมนาคม รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด และผู้บริหารให้การต้อนรับ

นายสุริยะ เปิดเผยว่า การได้กลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิม และได้ทีมงานเดิม ช่วยทำให้การทำงานสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องรวดเร็ว โดยจะยังคงผลักดันการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการให้บริการในระบบคมนาคมขนส่งทุกด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทรวงคมนาคมพร้อมเสนอโครงการสำคัญต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เพื่อพิจารณาทันที 9 โครงการ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับ 9 โครงการ แบ่งเป็น ขออนุมัติโครงการใหญ่ 3 โครงการ วงเงินรวม 1.09 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท และช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กม. วงเงิน 15,260 ล้านบาท 2.โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 5 (M5) สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท

และขออนุมัติด้านการเงินและการบริหารจัดการ 6 โครงการ ประกอบด้วย 1.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2.ขออนุมัติกรอบวงเงินเวนคืนที่ดินในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3.การบริหารท่าเรือ AO ท่าเรือแหลมฉบัง 4.ขออนุมัติให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มอบความรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานตากให้แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

5.ขออนุมัติร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง และ 6.ขออนุมัติร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม อย่างไรก็ตามทั้ง 9 โครงการ เคยเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบรรจุวาระ ครม. ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ได้มีการส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ยืนยันอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมส่งกลับไปทันที ส่วนโครงการอื่นๆ กระทรวงคมนาคม จะทยอยนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป อาทิ รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าโครงการต่างๆ ที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ได้เคยหาเสียงไว้กับประชาชน ทางกระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าต่อเนื่องทั้งหมด โดยเฉพาะนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รวมถึงการปรับปรุงรถไฟชั้น 3 ซึ่งปัจจุบันเป็นรถร้อนให้เป็นรถปรับอากาศทั้งหมดทุกขบวน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ให้เร่งดำเนินการ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน และไม่ควรมีการแบ่งแยกกลุ่มคน ควรได้รับการเข้าถึงรถปรับอากาศที่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันจะเร่งรัดเรื่องการจัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ ซึ่งทราบว่ามีแผนการดำเนินงานไว้แล้ว เพื่อรองรับทางคู่ที่จะเปิดให้บริการในอนาคต

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งปรับปรุงรถร้อนให้เป็นรถปรับอากาศตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จในสิ้นปี 67 จากแผนปี 68 เพื่อให้ทยอยนำมาให้บริการประชาชนก่อน โดยการปรับปรุงครั้งนี้ มีไม่ต่ำกว่า 100 ขบวน ส่วนเรื่องค่าโดยสารจะยังคงจัดเก็บในอัตราค่าโดยสารเท่าเดิม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการ แม้ว่าค่าโดยสารจะไม่ได้รับการปรับขึ้นมาเป็นเวลา 34 ปี

สำหรับแผนการปรับปรุงขบวนรถไฟชั้น 3 ให้เป็นรถปรับอากาศ จะดำเนินการ 130 คัน เฉลี่ยคันละประมาณ 6 ล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 780 ล้านบาท เพื่อยกระดับการให้บริการ และให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการที่ดีขึ้น โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการปี 67 จำนวน 40 คัน วงเงิน 240 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ และพร้อมบริการในปี 68 และระยะที่ 2 จะดำเนินการในปี 68 จำนวน 90 คัน วงเงิน 540 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 69 จากนั้นจะทยอยปรับปรุงขบวนที่เหลือจนครบทุกขบวน ซึ่งปัจจุบัน รฟท. มีขบวนชั้น 3 ประมาณ 300-400 คัน.