วาระการดำรงตำแหน่งของฮาสินา สิ้นสุดลงเมื่อเดือนที่แล้ว หลังกลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนไปยังสำนักงานของเธอ ในกรุงธากา พร้อมกับประณามการปกครองที่ยาวนาน 15 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิ และการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

แม้นักศึกษาชาวบังกลาเทศ ต่างเรียกร้องให้ฮาสินา เดินทางกลับจากอินเดีย เพื่อเข้ารับการพิจารณาคดี ในข้อหาสังหารผู้ประท้วงระหว่างเหตุจลาจล แต่การส่งตัวอดีตผู้นำบังกลาเทศ วัย 76 ปีคนนี้ กลับมีความเสี่ยงที่จะบ่อนทำลายจุดยืนของอินเดียต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะที่ประเทศกำลังต่อสู้แย่งชิงอิทธิกับจีนอย่างดุเดือด

“อินเดียไม่ต้องการส่งตัวฮาสินากลับไปบังกลาเทศอย่างแน่นอน เพราะข้อความที่ส่งถึงผู้นำคนอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอินเดีย ไม่ใช่ข้อความเชิงบวก และนั่นคือ อินเดียจะไม่ปกป้องคุณ” นายโทมัส คีน จากอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) กล่าว

ผู้คนที่ทนทุกข์ภายใต้การปกครองของฮาสินาในบังกลาเทศ แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่ออินเดียอย่างเปิดเผย ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้คุกรุ่นผ่านกระบอกเสียงทางการทูต และมุ่งตรงไปยังรัฐบาลชั่วคราวของบังกลาเทศ

แม้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลที่เข้ามาบริหารบังกลาเทศ แทนฮาสินา ซึ่งนำโดยนายมูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2549 วัย 84 ปี แต่ในขณะเดียวกัน โมดีก็เรียกร้องหลายครั้งหลายหน ให้รัฐบาลชั่วคราวของยูนุส คุ้มครองชนกลุ่มน้อยชาวฮินดูในบังกลาเทศ ที่ตกอยู่ในอันตรายด้วย

อนึ่ง ชาวฮินดูบางคน และวัดฮินดูในบังกลาเทศ ตกเป็นเป้าหมายในความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฮาสินา ซึ่งการโจมตีดังกล่าวถูกประณามจากทั้งบรรดาผู้นำนักศึกษา และรัฐบาลชั่วคราวของยูนุส

ทว่าในเวลาต่อมา ช่องข่าวของอินเดียที่สนับสนุนรัฐบาลนิวเดลี กลับรายงานเรื่องราวความรุนแรงที่ “เกินจริงอย่างมาก” และจุดชนวนให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวฮินดู ที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคภารติยะ ชนตะ (บีเจพี) ของโมดี อย่างหลวม ๆ

อีกด้านหนึ่ง สมาชิกจำนวนมากของพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ชาวบังกลาเทสต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดีย แต่มันไม่ควรแลกมาด้วยผลประโยชน์ของพวกเขา และทัศนคติของอินเดีย ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ รัฐบาลชั่วคราวของบังกลาเทศ ไม่หยิบยกประเด็นที่ฮาสินาลี้ภัยอยู่ในอินเดีย ขึ้นมาพูดอย่างเปิดเผย แต่ทางการได้เพิกถอนหนังสือเดินทางทูตของฮาสินา ส่งผลให้เธอไม่สามารถเดินทางไปประเทศอื่นได้

จริงอยู่ที่ว่า บังกลาเทศและอินเดีย มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระดับทวิภาคี ที่ได้รับการลงนามครั้งแรกเมื่อปี 2556 ซึ่งอนุญาตให้ฮาสินาเดินทางกลับบังกลาเทศ เพื่อเผชิญกับการพิจารณาคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ข้อบทหนึ่งในสนธิสัญญาระบุว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอาจถูกปฏิเสธได้ หากความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับ “พฤติกรรมทางการเมือง”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES