เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ว่า  ตามที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั้น จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 12-13 ก.ย.นี้  ซึ่งทุกคนจะได้รับทราบนโยบายการศึกษาอย่างเป็นทางการจาก น.ส.แพทองธาร แต่ในเบื้องต้นนายกฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก และเป็นห่วงเรื่องการขับเคลื่อนการศึกษาที่ผ่านมา เช่น การยกระดับโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือพิซา การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นศธ.พร้อมนำนโยบายของนายกฯ ไปขับเคลื่อนต่อยอดอย่างเต็มที่  โดยในส่วนการทำงานของ ศธ.ที่ผ่านต้องถือว่าทั้ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และตน ได้ดำรงแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ได้ทำงานการศึกษาภายใต้นโยบายเรียนดีมีความสุขของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนเห็นนโยบายการศึกษาที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกครูเวร การคืนอัตรานักการภารโรง การเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส โครงการสุขาดีมีความสุข 

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเจรจาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่พบว่า สหกรณ์หลายแห่งมีการปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ทำให้ครูแบกรับภาระหนี้และเหลือเงินใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่เพียงพอ  ดั้งนั้นขอฝากเขตพื้นที่ทุกแห่งได้หาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำมาให้ครูเลือกชอปปิงจะได้เป็นการไม่มัดมือชกให้ครูต้องกู้กับสหกรณ์แห่งเดียว  นอกจากนี้ตนขอฝากเรื่องระบบความโปร่งใสในการบริหารจัดการงานทุกเรื่องขอให้ดำเนินการยึดหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายครู ซึ่งตนได้ยินมาว่าในพื้นที่ภาคอีสานมีการเรียกรับเงินจากการโยกย้ายครูเกิดขึ้น ดังนั้นตนหวังว่าในยุคนี้จะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งขอให้ระบบการย้ายครูดำเนินการด้วยความเป็นธรรม ห้ามมีการเรียกรับผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด  สำหรับนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime นั้น ยังเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีการจัดทำแพลตฟอร์มคลังการเรียนรู้สำหรับครูและนักเรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว 

“จากนี้ไปเราจะใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการศึกษาให้มากขึ้น เพราะการนำไอทีเข้ามาในระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่นักการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ต้องการผลักดันเทคโนโลยีกับการศึกษาอย่างจริงจัง  ซึ่งผมฝากครูทุกคนเมื่อเรานำไอทีเข้ามาใช้ในการศึกษามากขึ้นก็อยากให้ครูได้กำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีของนักเรียนให้เกิดความเหมาะสมด้วย เพราะเทคโนโลยีเมื่อใช้อย่างสร้างสรรค์จะเกิดประโยชน์อย่างมาก” นายสุรศักดิ์ กล่าว