ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามแข่งเรือยาวประเพณีลำน้ำปาว อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายพุทธภูมิ นาชัยเริ่ม นอภ.กมลาไสย พ.ต.อ.ธีรวุฒิ วงศาอ้วน ผกก.สภ.กมลาไสย นายเสกสรร ศรีไพรวรรณ ผอ.สนง.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น และนางสาววิจิตรา ภูโคตร นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย ร่วมกันแถลงข่าวความพร้อมการจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี จ.กาฬสินธุ์ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร ประจำปี 2567  

โดยกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2567 ที่สนามแข่งเรือยาวประเพณีลำน้ำปาว อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เพื่อส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมการแข่งขันเรือยาวของท้องถิ่นซึ่งเป็นการสร้างเสริมเอกลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงสร้างความสามัคคี อีกทั้งยังส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายประยูร ศิริวรรณ หัวหน้า สนง.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน และสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมรับฟังแถลงข่าว

นายสนั่น กล่าวว่า การจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี จ.กาฬสินธุ์ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมการแข่งขันเรือยาวของท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคี ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

สำหรับการเรือยาวที่เข้าร่วมการแข่งขัน ประกอบด้วย เรือยาวใหญ่ (ไม่เกิน 55 ฝีพาย) จำนวน 6 ลำ ประกอบด้วย เรือศรีสตึก จาก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เรือเทพเนรมิตร จาก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เรืออัครมงคลราชธานี จาก อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เรือสาวพริ้งภัสราภรณ์มามี้สั่งดัน จาก อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เรือเพชรไชยลาด จากแขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และเรือหงษ์แก้วป่า แขวงคำม่วน สปป.ลาว ส่วนเรือยาวกลางทั่วไป (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) จำนวน 8 ลำ และเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) จำนวน 6 ลำ