จุดเริ่มต้นของโครงการ เกิดจากการประกาศสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ที่บ้านผาซ่อม ต.ผาเลือด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ในปี 2500 ทำให้ต้องเตรียมพื้นที่สำหรับประชาชนที่จะต้องย้ายออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำ โดยจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ขึ้นที่ อ.ท่าปลา ซึ่งมีพื้นที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่ 53,500 ไร่ โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำและฝายขนาดเล็กและระบบท่อส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ที่ส่งน้ำมายังพื้นที่เป้าหมายได้เพียง 5-10% เนื่องจากระบบท่อส่งน้ำ ก่อสร้างมาแล้วมากกว่า 20 ปี จึงมีสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และเกษตรกรรม รุนแรงในช่วงฤดูแล้ง
กรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้ราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ สร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพิ่มพื้นที่การเกษตรชลประทานแล้วมากกว่า 5 หมื่นไร่ สร้างอาชีพใหม่ให้ราษฎร 6 ตำบล ใน อ.ท่าปลา และ อ.เมืองอุตรดิตถ์ รวมกว่า 2.4 หมื่นราย
นายยุทธนา มหานุกูล ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2535 ราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ บริเวณ ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ได้ยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอแหล่งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อการเกษตร จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำป่าไหลหลากให้ราษฎร เนื่องจากอยู่บริเวณพื้นที่สูงสลับภูเขา ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 53,500 ไร่ การส่งน้ำเข้าพื้นที่ทำได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งไม่มีเครื่องมือควบคุมน้ำที่หลากมาจากทางเหนือ กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมอาคารประกอบและระบบส่งน้ำ ที่บริเวณหมู่ 12 บ้านกิ่วเคียน ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ระยะเวลาโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2568 ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติ 4,800 ล้านบาท
“ลักษณะโครงการฯ เป็นเขื่อนดิน มีความสูง 55 เมตร ยาว 440 เมตร ความจุ 73.70 ล้าน ลบ.ม. พร้อมอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 1,831.59 เมตร และระบบส่งน้ำด้วยท่อความยาวรวม 250 กิโลเมตร ปัจจุบันมีผลงานการก่อสร้างทั้งโครงการไปแล้วกว่า 98% สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 38,600 ไร่ และเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 จะสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ใน อ.ท่าปลา 5 ตำบล ได้แก่ ต.จริม, หาดล้า, ท่าปลา, ร่วมจิต, น้ำหมัน และ อ.เมือง 4 ตำบล ได้แก่ ต.วังดิน, หาดงิ้ว, บ้านด่าน และแสนตอ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 53,500 ไร่ ฤดูแล้ง 39,920 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์รวม 60 หมู่บ้าน 6,856 ครอบครัว ประชากรรวม 24,501 คน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อราษฎรได้บริโภค หรือประกอบอาชีพประมงเป็นรายได้เสริม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.อุตรดิตถ์ อีกด้วย” ผอ.สำนักงานก่อสร้างขนาดใหญ่ฯ กล่าว
ด้าน ผู้ใหญ่ปทุม ลัคณา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.จริม อ.ท่าปลา กล่าวว่า เมื่อครั้งอพยพมาที่ ต.จริม ในปี 2514 ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำนาข้าว และทำสวนมะม่วงหิมพานต์ อาศัยน้ำฝนทำการเกษตรเป็นหลัก ถ้าปีไหนไม่มีฝนก็ไม่มีผลผลิตหรือได้ผลผลิตน้อย ทำให้ขาดรายได้ น้ำที่นำมาใช้ในครัวเรือนต้องจ่ายเงินซื้อ แรงงานในพื้นที่จึงออกไปทำงานหารายได้ที่อื่น จนเมื่อมีการสร้างอ่าง เก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้พวกเรามีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญได้ทำนาทุกปี บางปีทำนาได้ 2-3 ครั้ง รวมไปถึงมะม่วงหิมพานต์ก็มีเม็ดอวบขึ้นเนื่องจากได้น้ำเพียงพอ นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีน้ำเพื่อการปลูกพืชอื่นๆ เช่น ทุเรียน และอินทผลัม ที่ตอนนี้เป็นสินค้าส่งออกมาตรฐาน OTOP ระดับ 5 ดาว ช่วยสร้างรายได้มั่นคง เพิ่มความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้นกว่าเดิมมาก