เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายปัญญา โตกทอง พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ กว่า 10 คน ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขตอําเภออัมพวา อําเภอบางคนที และอําเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม จํานวน กว่า 1,400 คน เดินทางไปที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กับทนายจากสภาทนายความฯ เพื่อยื่นฟ้องกรรมการบริหารบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ จำนวน 9 คนในคดีสิ่งแวดล้อม
โดยนายปัญญา กล่าวว่า พวกตนได้รับผลกระทบ และถูกละเมิดสิทธิมานาน ประกอบอาชีพย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ทั้ง ปลา กุ้ง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ ซึ่งตอนนี้ในบ่อที่เลี้ยงมีแต่ปลาหมอคางดำ และตั้งแต่ที่ตนเองและกลุ่มสมาชิก พบปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2555 แต่ที่รุนแรงช่วงปี 2559-2560 ตนและกลุ่มสมาชิกก็ได้ไปร้องเรียนมาหลายที่แล้ว ทั้งนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไร จากตอนแรกแค่ในจังหวัดตนเอง แต่ตอนนี้แพร่ไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศแล้ว รวมถึงรัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแลเยียวยาพวกตน และในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มาร้องศาลแพ่งให้ช่วยเหลือ ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทเอกชนคู่กรณี
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดี สภาทนายความ ระบุว่าภายหลังทำเรื่องฟ้องว่า หลังจากนี้ศาลนัดไต่สวนคำร้องอีกครั้งหนึ่งคือวันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. เป็นการรับไต่สวนคำร้อง ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยจะสามารถคัดค้าน และในการไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่มนั้น เราจะต้องแสดงให้เห็นว่า สมาชิกกลุ่ม มีขอบเขตอย่างไรให้ชัดเจนในกรณีที่จะเลือกใช้ขอบเขตของจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยจะใช้ จ.สมุทรสงครามเป็นขอบเขตในจังหวัดแรก และใช้อาชีพของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยง โดยใน จ.สมุทรสงคราม มีสมาชิกที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงทั้งสิ้น 1,400 คน และเวลาในการไต่สวนจะต้องทำให้เห็นว่าสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
สำหรับจํานวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560–2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจํานวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท
กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560–2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจํานวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท