ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ก่อน ธุรกิจ “เทค สตาร์ทอัพ” ในไทยถือเป็นช่วงขาขึ้น เป็นยุคทองของคน “วัยหนุ่ม– สาว” ในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีความฝัน อยากทำสตาร์ทอัพ มีบริษัทเป็นของตนเองเมื่อเรียนจบ ไม่ต้องไปใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างใคร!!

จึงมีการรวมกลุ่มเพื่อนๆคิดไอเดียธุรกิจที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือช่วยแก้ปัญหาให้คนในยุคดิจิทัล หวังเกิดเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนโลกโดยมีคนไอทีดังระดับโลก ที่ก่อตั้งบริษัทเทคโลโลยีชื่อดังเป็น “ไอดอล” อย่างเช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ที่เป็น Founder หรือผู้ก่อตั้ง “เฟซบุ๊ก” ฯลฯ

ทำให้กระแสสตาร์ทอัพ “บูม” อย่างมาก มีทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เข้ามาให้การสนับสนุน และเปิดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เฟ้นหาและปลุกปั้นสตาร์ทอัพ  เพื่อให้มีโอกาสได้รับเงินทุนในการตั้งต้นบริษัท จาก เวนเจอร์ แคปปิตอล (วีซี) หรือ ผู้ร่วมลงทุน เพื่อสร้างบริษัทให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

แต่ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของสตาร์ทอัพ 90% จะล้มเหลว ที่เหลืออีก 10%  กลายเป็น “ซอมบี้” (Zombie) คือ “ไม่ตายแต่ไม่โต” มีน้อยรายที่จะสามารถขายกิจการ หรือ Exit เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งในเมืองไทยก็เช่นกัน ที่ผ่านมามีการพูดถึงสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัท มากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือ 3  หมื่นล้านบาท มานานหลายปี

 แต่เพิ่งจะมี Flash Express ได้กลายเป็น “ยูนิคอร์น”รายแรกของไทย!! ขณะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เพื่อนบ้านในภูมิภาค มีจำนวนหลายรายแล้ว

การทำสตาร์ทอัพ จึงถือเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากกว่า คือ ทำอย่างไรให้บริษัทโตแบบก้าวกระโดด หลายๆเท่า เพื่อให้ได้รับความสนใจจากวีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ เทค สตาร์ทอัพ ในไทย “ล้มหายตายจาก” ไปจำนวนไม่น้อย

ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น เทค สตาร์ทอัพ ของไทย ต้องปรับตัวอย่างไร หรือ สตาร์ทอัพกลุ่มไหน ที่ยังมีแนวโน้ม หรือโอกาสยังไปได้ดี?

ซึ่งในงานเปิดตัว โครงการ  dVenture  ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมมือกับ เครือข่ายพันธมิตร ซึ่งเป็นวีซี ประกอบด้วย อินโนสเปซ ไทยแลนด์ , อินทัช , กรุงศรี ฟินโนเวต  และ  ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ นั้น ได้มีการเสวนาหัวข้อ “เทรนด์และปัจจัยการลงทุนในปัจจุบัน” ซึ่งมีประเด็นที่น่าใจเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ

โดย“จันทนารักษ์ ถือแก้ว”กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จํากัด บอกว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปีที่แล้วทำให้สตาร์ทอัพระดมทุนได้ยากและมีโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพหลายแห่งได้ปิดตัวลงไป อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยของวีซีระบุว่าตอนนี้เป็นยุคทองของ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในตอนนี้ เป็นเหมือนประเทศจีนเมื่อ 10  ปีก่อน ในอนาคตข้างหน้าคือในปี 2029 มีโอกาสมากๆที่จะมี “ยูนิคอร์น” เกิดขึ้นอย่างน้อย 20  บริษัท โดย 70% มาจาก reginal platform และอีก 30% มาจากอินโดนีเซีย ก็หวังว่าจะมีส่วนหนึ่งมาจากไทยด้วย

ภาพ pixabay

สำหรับสตาร์ทอัพ ในเซกเตอร์ไหนจะเป็นเทรนด์นั้น มองว่า เป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษา หรือเอดเทค(Edtech) ที่จะมีการเติบโตจากการปรับเปลี่ยนไปเรียนแบบออนไลน์ รวมถึง เฮลท์เทค(Healthtech) ที่เกี่ยวกับสุขภาพเพราะโควิด-19 ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมถึงไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนอีกเทรนด์ คือ ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น สตาร์ทอัพที่จะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนมาสู่โลกดิจิทัลได้ ก็มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุน

เช่นเดียวกับทาง “ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุนและพัฒนาธุรกิจ และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มองว่า สตาร์ทอัพที่เป็นเทรนด์น่าสนใจ จะมี 3 เซกเตอร์ ได้แก่ เฮลท์เทค(Healthtech)ซึ่งเทคโนโลยีด้านสุขภาพน่าจะมาตอบโจทย์สังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือในช่วงการระบาดของโควิด-19

ส่วนเซกเตอร์ที่ 2  คือ  Cyber Security  เพราะปัจจุบัน มี cyber attack เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ ปัญหาหลักของสตาร์ทอัพ ด้าน Cyber Security  คือ บุคลากรด้านนี้มีน้อย จึงน่าสนับสนุน ทั้งเงินทุน ให้ความรู้ สร้างคน และการเข้าถึงตลาด ซึ่งทางดีป้าและภาคเอกชนสามารถเข้าไปช่วยได้ และสุดท้าย คือ Smart City  เพราะเมืองกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นในการบริหารจัดการหลายด้าน ทั้งการพลังงาน จัดการขยะ และรักษาความปลอดภัย  ฯลฯ

ส่วน “แซม ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด มองสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ และอีโคซิสเต็มส์หรือระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการขายของบนออนไลน์  การขนส่ง ระบบชำระเงินฯลฯ ซึ่งอยู่ในเทรนด์ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงในเรื่องบล็อกเชน (blockchain) ที่กำลังมา

ภาพ pixabay

อย่างไรก็ตามในภาวะปัจจุบันนี้ สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยควรให้ความสำคัญคือ ต้องดูเรื่อง กระแสเงินสด(Cash Flow) ให้ดี ต้องลีน คอสท์ ควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องดูว่าจำเป็นต้องลดคน ลดเงินเดือนหรือไม่ อาจไม่จำเป็นต้องเช่าออฟฟิคแล้วเมื่อเปลี่ยนมาเวิร์ค ฟรอม โฮม ซึ่งต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะช่วงนี้รายได้ อาจไม่แน่นอน

สำหรับการระดมทุนจากวีซีนั้น สตาร์ทอัพต้องเตรียมข้อมูลบริษัท แผนธุรกิจและเอกสารต่างๆให้พร้อม ดูว่าเราอยู่ใน สเตจ ไหน เลือกวีซีให้ถูกในการไปพุดคุย และต้องศึกษาว่าวีซีนั้นๆมีแนวทางการลงทุนอย่างไร ในสตาร์ทอัพกลุ่มไหน เพื่อให้วีซีดัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพระดมทุนได้เร็วขึ้นด้วย

และสิ่งสำคัญต้องขยันเข้าร่วมในอีเว้นท์ต่างๆเพื่อให้ได้ความรู้และเครือข่ายคอนเน็คชั่น และต้องโฟกัสธุรกิจทำอย่างหนึ่งให้ดีที่สุดก่อน อย่างเพิ่งไปแตกโมเดลธุรกิจอื่นๆ ในเมื่อสิ่งที่ทำอยู่ยังไปได้ไม่สุด!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์