นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “สอนศิลป์ ถิ่นกวี ขับกล่อมดนตรีพื้นบ้าน ร่วมสานงานศิลปวัฒนธรรม” ตามโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สืบศาสตร์สานศิลป์ มรดกภูมิปัญญาปราชญ์แผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ โดยมีนักเรียน นักศึกษา ประมาณ 1,500 คน เข้าร่วมรับการอบรมเชิงปฏิบัติการจาก 16 ศิลปินแห่งชาติใน 14 ฐานการอบรม ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

นายประสพ กล่าวว่า การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสวธ. และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อสืบสานและเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศิลปะและดนตรีพื้นบ้านให้แก่คนรุ่นใหม่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นำไปสู่การขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในอนาคต โดยในการจัดโครงการนี้จะจัดปีงบประมาณละ 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค สำหรับประจำปีงบประมาณ 2567 ที่จ.นครราชสีมา เป็นการจัดโครงการครั้งที่ 4 มีนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมอบรมมากที่สุด และจากการจัดโครงการนี้แต่ละครั้งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก มีการเรียกร้องให้จัดโครงการดังกล่าวมากกว่าภูมิภาคละ 1 ครั้งด้วย ซึ่งจะนำไปพิจารณาต่อไป

น.ส.ลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีสวธ. กล่าวว่า สำหรับ 14 ฐาน ประกอบด้วย การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย ฝึกอบรมครูศิลปะ ครูแนะแนว ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เพลงโคราช เทคนิคผ่านเลนส์ภาพถ่าย เทคนิคปั้นดินร่วมสมัยคนด่านเกวียน การแสดงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน ออกแบบคาแรคเตอร์อาร์ททอย วรรณศิลป์ (เรื่องสั้น) วรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) เทคนิคการสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ เทคนิคประติมากรรม เทคนิคจิตรกรรมและสื่อผสม ศิลปะการแสดงขับร้อง เทคนิคสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติอีก 39 ชิ้น ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินร่วมสมัย และครูศิลปะ อาทิ ดร. กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง) นายเดช นานกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปั้นดินเผาร่วมสมัยคนด่านเกวียน มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม