“ปณิตา  ชินวัตร” รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือดัชนีเอสเอ็มอีเอสไอ ประจำเดือนก.ค. เป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคใต้ มีค่าดัชนีสูงสุด เมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค อยู่ที่ 51.4  แต่เป็นอัตราลดลงเทียบจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 53.3 เนื่องจากมองว่า ภาคเศรษฐกิจชะลอตัวลง จากภาคการผลิตแม้จะมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดที่ผ่านมา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

ภาคกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุด เมื่อเทียบกับทุกภูมิภาคอยู่ที่ 47.9 ลดลงอย่างชัดเจนมากเมื่อเทียบกัเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.4 และอยู่ต่ำกว่าระดับเชื่อมั่น สะท้อนความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความกังวลในด้านผลประกอบการของภาคธุรกิจ จากผู้ประกอบการภาคการผลิต และภาคการบริการเป็นสำคัญ แม้ภาคการก่อสร้างปรับดีขึ้นตามการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4  เป็นผลจากภาพรวมธุรกิจชะลอตัวลง จากภาคการผลิต การค้า และการบริการ ขณะที่กิจกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น กลุ่มร้านอาหาร และบริการขนส่งไม่ประจำทางยังปรับตัวดีขึ้นแม้ไม่สูงมากนัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0 ภาคธุรกิจชะลอตัวลงทั้งหมด โดยกำลังซื้อในพื้นที่ลดลง คนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ และกลุ่มผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่น้อย

ภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.2 ภาคการผลิตชะลอตัวลงชัดเจน โดยเฉพาะกับภาคการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติก ที่ยอดคำสั่งซื้อเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มแพปลาปรับตัวดีขึ้น จากการที่คู่แข่งในพื้นที่อื่นได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ

ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.4 ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูงไปในเดือนก่อนหน้า ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ในขณะที่พื้นที่อื่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงทั้งหมดยกเว้นภาคธุรกิจการเกษตรในกลุ่มสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ ที่ยังสามารถส่งขายได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนดัชนี SMESI ประจำเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจากระดับ 52.0 ของเดือนก่อนหน้า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่น (ค่าฐานที่ 50) เป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน เป็นผลจากการชะลอตัวของกำลังซื้อในเกือบทุกภาคธุรกิจ และความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น หนี้สินในภาคครัวเรือนสูง ความตึงตัวของสินเชื่อธุรกิจ การเข้ามาแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น ในขณะที่ภาคก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรับดีขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐฯ และภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวที่ยังได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับดัชนีองค์ประกอบปัจจุบันในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ การลงทุนโดยรวม การจ้างงาน และกำไร อยู่ที่ระดับ 53.6 52.0 50.0 50.2 และ 52.5 ลดลงจากระดับ 60.2 56.3 51.9 50.9 และ 54.6 ของเดือนก่อนหน้า ยกเว้นองค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 41.0 จากระดับ 38.2 ของเดือนก่อนหน้า

สำหรับสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเร่งด่วนที่สุด คือ การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะต้นทุนราคาสินค้าวัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ ส่วนการเข้ามาแข่งขันธุรกิจหรือสินค้าวัตถุดิบจากต่างประเทศทั้งในรูปแบบออฟไลน์ ออนไลน์ เป็นอุปสรรคสำคัญที่จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีลดลง ดังนั้นภาครัฐควรมีการควบคุมการเข้ามาดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ การจำกัดการนำเข้าของประเภทสินค้าและวัตถุดิบอย่างเข้มงวด และส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอสเอ็มอีไทย ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าของไทยมากขึ้น