ดูรอฟ ถูกควบคุมตัวที่ท่าอากาศยานเลอบูร์เกต์ ทางเหนือของกรุงปารีส เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพนักงานสอบสวนกล่าวหาดูรอฟ ว่าไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะยับยั้งการใช้แพลตฟอร์มของเขา เพื่อจุดประสงค์ทางอาญา ซึ่งเทเลแกรม ปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น และระบุว่าเป็น “เรื่องไร้สาระ” ที่จะให้ดูรอฟ ต้องรับผิดชอบต่อการใช้แพลตฟอร์มในทางที่ผิด

อย่างไรก็ตาม บางคนชี้ว่าดูรอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลวงการเทคโนโลยี ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก อาจนำการตรวจสอบเข้ามาหาตัวเอง

“อาชญากรรม และถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง มีอยู่อย่างแพร่หลายบนเทเลแกรม แต่ดูรอฟกลับไม่ให้ความร่วมมืออย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งถ้าเขาให้ความร่วมมือมากกว่านี้ มันก็ไม่น่าจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้” นายมาร์ก โอเวน โจนส์ รองศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ในกาตาร์ กล่าว

อนึ่ง การจับกุมครั้งนี้ เน้นย้ำถึงแนวโน้มที่กว้างขึ้น ในกลุ่มผู้บัญญัติกฎหมาย และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่ยอมทนกับ “การอ้างสิทธิพิเศษ” จากบรรดาผู้นำด้านเทคโนโลยี

กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (ดีเอสเอ) กำลังทำลายตรรกะที่ว่า บริษัทไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหา โดยบังคับให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ตรวจสอบการกระทำของผู้ใช้งาน มิฉะนั้นพวกเขาจะเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรง

สหราชอาณาจักร, สหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างสนับสนุนกฎหมายที่บังคับให้บริการต่าง ๆ เช่น เทเลแกรม สร้างช่องทางลับ หรือที่เรียกว่า “ประตูหลัง” ในข้อความที่เข้ารหัส ซึ่งรัฐบาลในประเทศเหล่านี้อ้างว่า พวกเขาต้องมีสิทธิในการเข้าถึงระบบ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมอาชญากรรม และมักจะมองว่าเป็น “การต่อสู้กับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

กระนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพในการพูด รวมถึงผู้สนับสนุนเสรีภาพทางเทคโนโลยี และนักรณรงค์เสรีภาพของพลเมือง ร่วมใจกันต่อต้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว

“การจับกุมดูรอฟ ถือเป็นการกระทำอีกอย่างหนึ่ง ในการเจรจาที่มักสร้างความสับสนและความขัดแย้ง เกี่ยวกับระดับความรับผิดชอบที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องแบกรับ สำหรับเนื้อหาในบริการ แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของพวกเขา” นายทิโมที โคสกี นักวิจัยชาวออสเตรเลีย ระบุเสริมบนเว็บไซต์ “เดอะ คอนเวอร์เซชัน” ว่า หากดูรอฟถูกตัดสินว่ามีความผิด ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะกล้าดำเนินการสอบสวนด้วยตัวเอง

อีกด้านหนึ่ง นางฟลอเรนซ์ จีเซล จากมหาวิทยาลัยลอร์แรน ชี้ให้เห็นว่า การถกเถียงครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับระดับความเป็นส่วนตัวที่ผู้คนต้องการ เมื่อใช้บริการส่งข้อความ ซึ่งเธอมองว่ามีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง ระหว่างระดับการป้องกันโดยสิ้นเชิง จากการสอดส่องใด ๆ กับการยกเลิกการเข้ารหัส และบังคับให้บริษัทต่าง ๆ ส่งข้อมูลให้กับทางการ

ทั้งนี้ “ออฟมิน” (OFMIN) ซึ่งเป็นหน่วยงานป้องกันความรุนแรงต่อเยาวชนของฝรั่งเศส ออกหมายจับดูรอฟ ตามการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการกระทำผิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การฉ้อโกง, การค้ายาเสพติด, การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์, องค์กรอาชญากรรม และการส่งเสริมการก่อการร้าย

แต่ในขณะเดียวกัน เทเลแกรมก็ออกมาตอบโต้ว่า ดูรอฟไม่มีอะไรต้องปิดบัง และเขาเดินทางในยุโรปบ่อยครั้ง อีกทั้งบริษัทยังปฏิบัติตามกฎหมายของอียู อย่างเคร่งครัดด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES