รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้จัดส่งข้อมูล พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษ(ด่วน)ศรีรัช ระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้ว ภายหลังจาก กทพ. ขอขยายเวลาจัดส่งข้อมูลออกไปอีก 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ป.ป.ช. ให้จัดส่งข้อมูลฯ ภายในวันที่ 7 ส.ค.67 เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนคู่สัญญา

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ปัจจุบันร่างสัญญาแก้ไขสัมปทานฯ เสนอมากระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาสัมปทานฯ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้จะได้เดินหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม. โดยสุดท้ายแล้วหากไม่เห็นชอบให้ดำเนินการ ก็รออีกประมาณ 11 ปี เพื่อให้สัมปทานทางด่วนศรีรัชสิ้นสุดเดือน ต.ค.78 จากนั้นจึงเปิดประมูลก็สามารถทำได้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า กทพ. มีเป้าหมายต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน โดยจะสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) วงเงินประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรบนทางด่วน ทำให้การจราจรบนทางด่วนคล่องตัวมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามีทางด่วน Double Deck แล้วจะช่วยแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯ ทั้งหมด เป็นการอำนวยความสะดวกผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางเดิมมากกว่า ซึ่งการลงทุนก่อสร้างทางด่วน Double Deck ไม่ได้ทำให้กำไรเพิ่มขึ้น และเป็นการลงทุนที่สูงกว่า 3 หมื่นล้าน จึงเจรจากับ BEM เรื่องการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอ (พระราม9-รัชดาภิเษก) ส่วนบี (พญาไท-บางโคล่) ส่วนซี (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) เพิ่มออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน เพื่อแลกกับการสร้างทางด่วน Double Deck

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การขยายสัมปทานครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการเจรจาให้ BEM ปรับลดอัตราค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร(กม.) จาก 90 บาท ให้เหลือไม่เกิน 50 บาทตลอดสายภายในปี 67 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้แก่ประชาชน โดยในส่วนนี้จะเป็นการเจรจาเรื่องปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. กับ BEM จากเดิม กทพ. 60% และเอกชน 40% เหลือ 50% : 50% ซึ่งการขยายสัมปทานแลกเฉพาะการก่อสร้างทางด่วนเท่านั้น โดยระยะเวลาสัมปทานที่ขยายเพิ่มออกไป กทพ. พิจารณาด้วยความรอบคอบ และยืนยันว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 

สำหรับทางด่วนขั้นที่ 2 มีผู้ใช้ทางกว่า 1.04 ล้านคันต่อวัน ซึ่งการจราจรที่ติดขัดบนทางด่วนทุกวันนี้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประมาณ 7 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามตามแผนงานหาก ครม. เห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขสัมปทานฯ คาดว่าจะลงนามสัญญากับ BEM  และเริ่มก่อสร้างทางด่วน Double Deck ปลายปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปลายปี 71 จะช่วยบรรเทาวิกฤติการจราจรติดขัดบนทางด่วนในปัจจุบัน โดยสามารถแยกผู้ใช้ทางที่ต้องการเดินทางระยะใกล้ ให้ใช้ทางด่วนศรีรัชเดิม ส่วนผู้ใช้ทางที่ต้องการเดินทางระยะไกล สามารถใช้ทางด่วน Double Deck ได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องจุดตัดกระแสจราจร เพิ่มความจุบนทางด่วน และช่วยลดระยะเวลาเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า และเย็น ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางให้แก่ประชาชนได้อย่างดี.