เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมการค้าธุรกิจอาหาร จัดเวทีประชุมหารือกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่เป็นมิตรกับสุขภาพ ทั่วประเทศจำนวน 160 คน ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ ถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ และมีแนวโน้มว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567 โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับเดิม มีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการกำกับดูแลสังคมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ช่วยลดปัญหาสังคมให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่สร้างผลกระทบมากนัก  ดังนั้น การจะแก้ไขให้ สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรี เข้าถึงง่ายขึ้น จะทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศชาติมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เช่นเดียวกับการระบาดของยาบ้า บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อมในปัจจุบันที่ควบคุมได้ยาก

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อกรรมาธิการและผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ขอให้บังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับอย่างเข้มงวด มีบทลงโทษเด็ดขาด ไม่มีการลดโทษ โดยดึงฝ่ายปกครองแต่ละท้องที่เข้ามาร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อน 2.บรรจุมาตรกากรช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่กำลังแก้ไข เพื่อให้สังคมและทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแต่ลำพัง 3.ขอให้มีการกำหนดเวลาขาย-ดื่ม ขอบเขตโซนนิ่ง ระยะเวลาการดื่ม สถานที่ดื่มให้ชัดเจน และยังคงมาตรการจำกัดการซื้อขาย ไม่ควรขาย-ดื่ม หรือจัดเลี้ยงในวัด สถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่สาธารณะ รวมทั้งห้ามนำเด็กนักเรียนมาเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าจะดื่มให้ดื่มที่บ้านและร้านอาหารที่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง

4. มีมาตรการสื่อสารเชิงรุก เกี่ยวกับโทษของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟสบุ๊ก ติกต๊อก ให้มากขึ้น 5. เปิดช่องทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกติการ่วมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงวิถีวัฒนธรรม อาทิ บนถนนคนเดินปลอดเหล้า-บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการพบปะสังสรรค์ไม่จำเป็นต้องมีแอลกอฮอล์  ผู้นำควรเป็นแบบอย่างการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ดื่ม 6.หามาตรการที่เข้มงวดกับเมืองท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ปัญหาและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7.ขอให้พัฒนาข้อกำหนดให้ผู้ขายผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบลูกค้าที่มานั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ให้ออกจากร้านแล้วไปเกิดอุบัติเหตุ 

ดร.วิฑูร อินทจันท์ นายกสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร กล่าวว่า ปัญหาทางสังคมในปัจจุบันมีมากขึ้น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควรต้องทำให้รอบคอบขึ้น เครือข่ายที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารที่พยายามผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัยและรสชาติอร่อย ซึ่งเราอยากเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ปลอดภัยและยั่งยืน ไม่อยากเห็นว่าผู้ที่ทำธุรกิจร้านอาหารไปเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบแก่สังคมและลูกหลาน กรณีสถานการณ์ยาบ้ากัญชาและกระท่อมทำให้เราตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม หากเราเปิดให้มีขายสุราอย่างเสรีมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่มีความห่วงใย เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของร้านอาหารมาจากการขายอาหาร ไม่ใช่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแก้ไขกฎหมายควรต้องรับฟังอย่างรอบด้านถึงผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

นางโสภา มาลัยเลิศ เจ้าของสวนอาหารเค้กสวนปริก จ.เพชรบุรี และประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ เทศกาลอาหารและงานประจำปีที่จังหวัดเพชรบุรี เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แทบจะไม่มีใครเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่จัดงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะ ทำให้การจัดงานประจำปีมีความปลอดภัยเรียบร้อยดีมาก ไม่มี เหตุทะเลาะวิวาท และเรายังขยายผลไปในความปลอดภัยเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องสุขาภิบาลอาหาร อาทิ ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ไม่ใช้กรดน้ำส้ม ลดโซเดียมความเค็มลง ไม่ใช้ผงชูรส และเปลี่ยนจากการภาชนะโฟมเป็นวัสดุทดแทน เช่น ใบตอง หรือชานอ้อย จึงเห็นว่ากฎหมายเดิมที่มีการควบคุมจำกัดการซื้อการขาย ระยะเวลาการดื่มและสถานที่ในการดื่ม ช่วยทำให้สังคมส่วนรวมเกิดความปลอดภัย ทำให้เกิดบรรยากาศการท่องเที่ยวแบบครอบครัว กระตุ้นเศรษฐกิจได้แบบสร้างสรรค์ ปลอดภัย และยั่งยืน.